นอกเหนือจากอาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ แล้ว ในช่วงฤดูฝนยังพบปัญหาสุขภาพที่มีความเสี่ยงสูง นั่นคือ การถูกพิษแมงกะพรุน ใครที่ทำงานใกล้ทะเลหรือท่องเที่ยวทะเลในช่วงนี้ระวังตัวให้ดี ที่สำคัญ หากถูกแมงกะพรุน ห้ามขัดถู หรือราดน้ำจืดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เพราะจะทำให้มีการยิงพิษเพิ่มขึ้น
ในช่วงฤดูฝนมักจะพบแมงกะพรุนถูกคลื่นซัดเข้ามาชายหาดจำนวนมาก ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ โดยแมงกะพรุนที่พบทั่วไปในทะเลไทยมีหลายชนิด แต่แมงกะพรุนที่เป็นอันตรายและมีพิษรุนแรง คือ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งในประเทศไทยเคยพบผู้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องแล้ว
สำหรับแมงกะพรุนกล่อง นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษรุนแรง จะมีลักษณะโปร่งใส รูปร่างเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีหนวดยื่นออกมาในแต่ละมุม และหนวดอาจยาวพอกับความสูงของคน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่มีหนวดเพียงเส้นเดียวในแต่ละมุม หรือชนิดที่มีหนวดหลายเส้นในแต่ละมุม ผู้เสียชีวิตในประเทศไทยทุกรายเกิดจากชนิดที่มีหนวดหลายเส้น ซึ่งกะเปาะพิษจะอยู่ที่สายหนวด หนึ่งตัวอาจมีกะเปาะพิษถึงล้านถุง จัดเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุด
พิษของแมงกะพรุนกล่องมีฤทธิ์ 3 ด้าน
- ทำให้เซลล์ผิวหนังตาย
- มีอาการปวดรุนแรง
- หากได้รับพิษในปริมาณมาก และพิษเข้าสู่กระแสเลือดและจะเข้าสู่หัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้นและระบบหายใจล้มเหลว อาจเสียชีวิตได้ภายใน 2 – 10 นาที
ขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกแมงกะพรุน
- เรียกให้คนช่วย หรือเรียกรถพยาบาล (โทร.1669) แต่ห้ามทิ้งให้ผู้บาดเจ็บอยู่ตามลำพัง เพราะอาจหมดสติภายในเวลาไม่กี่นาทีข้างหน้าและต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
- ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน
- ห้ามขัดถู หรือราดน้ำจืดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เพราะจะทำให้มีการยิงพิษเพิ่มขึ้น
- ราดน้ำส้มสายชูบริเวณที่มีร่องรอยการสัมผัสแมงกะพรุนให้ทั่วอย่างน้อย 30 วินาที น้ำส้มสายชูมีฤทธิ์ในการระงับการยิงพิษจากถุงพิษที่ยังไม่ออกฤทธิ์ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับพิษเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ลดอาการปวด
- ถ้าผู้ป่วยหมดสติและไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจก่อน โดยไม่ต้องรอราดน้ำส้มสายชู
เพื่อป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากแมงกะพรุน จึงควรระมัดระวังการเล่นน้ำทะเลในขณะฝนตก หรือหลังฝนหยุดใหม่ๆ เพราะมีความเสี่ยงจากแมงกะพรุนสูง