ความที่รสชาติอร่อยมีให้เลือกหลากหลายทั้งแบบแห้ง แบบน้ำ ส่วนเส้นก็ละลานตาไม่แพ้กัน ทั้งเส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นหมี่ เส้นบะหมี่ ที่สำคัญซื้อหาได้ง่ายดาย ไม่แปลกที่ “ก๋วยเตี๋ยว” จะเป็นเมนูยอดนิยมของชาวไทย ว่าแต่ก่อนรับประทานอย่าลืมคัดแล้วคัดอีกไม่อย่างนั้นอาจเจ็บป่วยจากสารพิษที่แฝงอยู่ใน “เส้นก๋วยเตี๋ยว” ได้นะ
สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจวิเคราะห์วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวโดยวิธีทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 – 2559 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 370 ตัวอย่าง
ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนด 71 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 19.2 โดยพบกรดเบนโซอิค ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 10.6 – 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะเส้นก๋วยจั๊บ เส้นใหญ่ และเส้นผัดไทชนิดแห้ง
ส่วนวัตถุกันเสีย “กรดซอร์บิค” พบประมาณร้อยละ 3.1 แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 102 – 414 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก เป็นวัตถุกันเสียที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ยีสต์ และรา เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกขับออกทางปัสสาวะได้ โดยอ้างอิงข้อมูลของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตรและองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้ประเมินและกำหนดค่าความปลอดภัย (ADI) แล้ว พบว่า มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์น้อยมาก และนอกจากนี้การบริโภคเส้นก๋วยเตี๋ยวจะต้องนำไปผ่านความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการต้ม ลวก หรือ นึ่ง ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดไม่ทนความร้อนสามารถสลายตัวได้เมื่อถูกความร้อน
สำหรับวัตถุกันเสียหรือสารกันเสีย ถ้าร่างกายได้รับปริมาณมากๆ เป็นเวลานานจะทําให้ประสิทธิภาพการทํางานของตับและไตลดลงโดยในส่วนของกรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิกนั้น ถ้าร่างกายได้รับปริมาณสูงเป็นเวลานาน จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง
การเลือกซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวมาทำอาหารเพื่อบริโภค ให้เลือกที่มีฉลากที่ระบุสถานที่ผลิต วันที่ผลิต หรือวันหมดอายุ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ควรรับประทานอาหารชนิดเดียวซ้ำๆ และบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป