ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือ อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายหาซื้อได้ง่าย เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธีสามารถบรรเทาปวดจากสาเหตุต่างๆได้หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดจากข้อเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ เคล็ด ขัด ยอก หลายคนจึงมีพาราเซตามอลติดตู้ยาที่บ้านและมักเป็นยาที่นึกถึงอันดับแรกเมื่อมีอาการปวด แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คือพาราเซตามอลมีฤทธิ์ลดอาการปวดจำกัด รักษาได้เพียงอาการปวดขั้นอ่อนถึงปานกลางเท่านั้น
แม้พาราเซตามอลจะมีฤทธิ์บรรเทาปวดได้หลายอย่างจนเหมือนจะรักษาปวดได้ครอบจักรวาล แต่อย่างไรก็ตามมีอาการปวดบางชนิดที่พาราเซตามอลไม่มีผลรักษาหรืออาจไม่ใช่ยาที่เหมาะสม อาทิ…
- อาการปวดขั้นรุนแรง เช่น ปวดจากแผลผ่าตัดใหญ่ หรือจากมะเร็ง
- อาการปวดที่มีลักษณะอาการแบบแปลกๆ เช่น ปวดแสบปวดร้อน เสียวแปลบเป็นพักๆ ปวดเหมือนเข็มเล็กๆทิ่มแทง ปวดเหมือนไฟช๊อต
- อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ปวดศีรษะไมเกรนมากกว่าเดือนละ 3-4 ครั้ง หรือปวดศีรษะจากความเครียดที่มีลักษณะอาการปวดเหมือนศีรษะถูกบีบรัดมากกว่า 15 วันต่อเดือน
นอกจากนี้ผลการศึกษาโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษ พบว่า ยาแก้ปวดยอดนิยม อย่างพาราเซตามอล ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดหลังและอาการปวดจากข้อเสื่อมได้
แม้จะเป็นยาที่แพทย์แนะนำก็ตาม คณะนักวิจัยพบว่า ยาพาราเซตามอลไม่ได้ช่วยบรรเทาความผิดปกติทางร่างกาย หรือช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ตับมีความเสี่ยงที่จะเป็นพิษมากขึ้นถึง 4 เท่าแม้พาราเซตามอลรักษาอาการปวดหลังและปวดข้อไม่ได้ผล
แต่ผู้ป่วยบางรายก็ยังสามารถใช้ยานี้เพื่อให้พอเคลื่อนไหวและนอนหลับโดยไม่เจ็บปวดนักได้อย่างไรก็ตาม การออกกำลัง และทำกายภาพบำบัด อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการกินยาซึ่งมีผลข้างเคียงมากเกินไป