ได้ชื่อว่าเป็นยาอันตรายอยู่แล้ว สำหรับ “ยาทรามาดอล” (Tramadol) ซึ่งใช้บรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงระดับรุนแรงการใช้ยานี้จึงต้องระมัดระวังและควรอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น นอกจากปัญหาการซื้อยามารับประทานเองแล้ว ล่าสุดก็มีข่าวคราวการระบาดของ “ยาแพกมาดอล” (Pacmadol) ปลอม
“ยาแพกมาดอล” (Pacmadol)
เป็นชื่อทางการค้าของยาทรามาดอล (Tramadol) จัดประเภทเป็นยาอันตราย ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง
กำหนดให้จำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ได้รับอนุญาตและต้องส่งมอบยาโดยเภสัชกร ซึ่งเภสัชกรจะต้องไม่จ่ายยาให้กับผู้ที่ไม่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และจ่ายในปริมาณที่เหมาะสมไม่เกิน 20 เม็ด ต่อครั้ง และห้ามจำหน่ายให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี เพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
ยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูง
- ทำให้มีอารมณ์แปรปรวน
- มึนงง
- เคลิ้ม
- เฉื่อยชา
ที่สำคัญหากได้รับยาเกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะอื่นๆ ตามมา เช่น รูม่านตาหด, ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานล้มเหลว, ชัก, ระบบการหายใจทำงานช้าลงจนอาจถึงขั้นหยุดหายใจ อาจทำให้ช็อกถึงแก่ชีวิตได้
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ยา PACMADOL ของจริงจะมีจุดสังเกตดังนี้
1.จะมีการติดสติกเกอร์ปิดทับเลขทะเบียนเดิม (1A 1065/44)
เนื่องจากมีการ Transfer ทะเบียนจาก PACMADOL Reg.no 1A 1065/44 เป็น UPDOL Reg.no. 1A 404/55 แล้ว Transfer อีกครั้งเป็น PACMADOL Reg.no.1A 435/56 และได้ยกเลิกทะเบียนตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งผลิตภัณฑ์ยา PACMADOL ที่ผลิตโดยบริษัท อินแพคฟาร์มา จำกัด ที่ยังคงเหลือในท้องตลาด คือ Lot.No. 13536 Mfg. 281113 Exp. 18117 เท่านั้น
2.มีการพิมพ์ Lot & Cont. No, Mfg. Date, ยาสิ้นอายุ ด้วย Ink jet
ที่มีตัวอักษรหนามากกว่าขณะที่ยาปลอม มีจุดสังเกต คือ มีการพิมพ์เลขทะเบียน Lot & Cont. No, Mfg. Date, ยาสิ้นอายุ ด้วย Ink jet ที่ตัวอักษรบางกว่ายาจริง จัดเป็นยาปลอม นั่นคือ ไม่ได้ผลิตโดย บริษัท อินแพคฟาร์มา จำกัด
สละเวลาซักนิด สังเกตรายละเอียดทุกอย่างของยารวมถึงอ่านฉลากให้ครบถ้วน เพราะการกินยาที่ไม่ได้มาตรฐานก็เหมือนเป็นการรับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย