ใครรู้ตัวว่า “ติดนวด” ได้ยินข่าวนี้คงเกิดอาการวิตกกังวลไม่น้อยกับ กรณีหญิงอายุ 55 ปี แจ้งความตำรวจชลบุรีให้ดำเนินคดีกับหมอนวดจับเส้นรายหนึ่ง สาเหตุนวดแรงจนกระดูกต้นขาขวาหัก ด้านผู้นวด ระบุว่าทราบเพียงแต่ว่าลูกค้าเป็นโรคมะเร็งและเคยได้รับคีโม แต่เจ้าตัวไม่ได้บอกว่าเป็นโรคกระดูกพรุนด้วย
ข้อมูลจาก นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ระบุว่า การนวดแล้วกระดูกหักเกิดขึ้นได้น้อยมากไม่ถึงร้อยละ 1 ทั้งนี้ ก่อนรับบริการต้องมีการศึกษาข้อมูลก่อนรับบริการ
โดยการนวดแผนไทยในบ้านเราแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
- การนวดเพื่อรักษา ต้องทำในสถานบริการ ผู้ให้บริการนวด ต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย กระทำในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองอย่างชัดเจน
- การนวดเพื่อผ่อนคลาย คลายเส้น ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์แผนไทย แต่ต้องผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร
สำหรับโรคที่ห้ามนวดอย่างเด็ดขาด ได้แก่…
- ไข้ขึ้นสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส
- ผู้มีความดันสูงเกิน 140 อัตราการเต้นหัวใจมากกว่า 24 ครั้งขึ้นไปและชีพจรมากกว่า 80 ครั้ง ไม่ควรไปนวดเพราะการนวดจะทำให้ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้น ความดันสูงขึ้น เสี่ยงกับภาวะหลอดเลือด ขณะที่ความร้อนในร่างกายจะสูงขึ้นด้วย
- ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน หรือโรคเกี่ยวกับกระดูก มะเร็งกระดูก แม้ว่าตามปกติน้ำหนักที่ใช้ในการนวดจะไม่รุนแรง แต่หากผู้ป่วยมีภาวะโรคเรื้อรังรุนแรงก็เสี่ยงทีจะได้รับบาดเจ็บได้ง่าย
นอกจากนี้ การนวดนั้นมีข้อห้ามบางประการคือ ห้ามนวดในผู้ป่วยโรคติดเชื้อเฉียบพลัน ห้ามนวดบริเวณที่มีการอักเสบจากการติดเชื้อ กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวานที่ยังควบคุมอาการให้เป็นปกติไม่ได้ โรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ โรคมะเร็ง แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท หลอดเลือดดำอักเสบ
จุดที่ห้ามนวดเด็ดขาดคือ ตามแนวกระดูกและหลอดเลือดคือ แนวกระดูกต้นคอ สันหลัง ซี่โครง บริเวณข้างคอ ใต้หู หลังหู และต่อมน้ำเหลืองใต้คาง ส่วนจุดที่ต้องระวังคือการกดจุดเปิดประตูลม ควรทำแค่ครั้งเดียว และจุดที่เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆ เช่น ข้อพับแขน ข้อมือ และข้อพับขา
เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กแต่แท้จริงแล้วการนวดมีความเสี่ยงสูงไม่น้อยนะคะ ฉะนั้นก่อนคิดไปนวดอย่าลืมสำรวจสุขภาพของตัวเองให้ดีก่อน รวมถึงเลือกร้านนวดที่ได้มาตรฐานมีใบรับรองชัดเจนนะคะ