เพราะการรับประทานอาหารรสเค็มเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของโรคไต เนื่องจากอาหารรสเค็มอุดมไปด้วยโซเดียม ซึ่งโซเดียมนั้นหากได้รับเกินความจำเป็นก็ให้โทษต่อร่างกายได้ การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ส่งผลเสียทั้งทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังส่งผลเสียต่อไตโดยตรง
แม้โซเดียมจะจัดเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายทำหน้าที่รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ ดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย ฯลฯ
แต่หากได้รับมากเกินความจำเป็นร่างกายก็จะขับออกส่งผลให้ไตทำงานมากจนเกินปกติ จากการการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้การรับประทานโซเดียมมากเกินไป ยังทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ และสมอง เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมา
อาหารที่อุดมไปด้วยโซเดียม ได้แก่…
อาหารแปรรูป, อาหารกระป๋อง, อาหารหมักดอง, เครื่องปรุงรสต่างๆ (อาทิ เกลือ, น้ำปลา, ซีอิ๊ว, ซอส, กะปิ ฯลฯ), อาหารกึ่งสำเร็จรูป (อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, โจ๊กชนิดซอง ฯลฯ) ผงชูรส, เครื่องดื่มเกลือแร่ต่างๆ นอกจากนี้โซเดียมยังแอบแฝงในอาหารรูปอื่นแต่ไม่มีรสชาติเค็ม เช่น ผงชูรส ผงฟู เป็นต้น
ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภคไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งน้ำปลา ซีอิ๊ว และซอสปรุงรส 1 ช้อนชาก็มีมีโซเดียมกว่า 400 มิลลิกรัม แล้ว
ฉะนั้นทางออกของการลดปริมาณโซเดียมที่จะเข้าสู่ร่างกายก็คือ การเลือกกินอย่างชาญฉลาด ซึ่งได้แก่ หลีกเลี่ยงการใช้เกลือในการปรุงอาหาร และเลือกเติมเครื่องปรุงให้โซเดียมไม่เกินปริมาณที่กำหนด การเลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติแต่อย่าปรุงให้รสจัดจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม ไม่เติมผงชูรส รับประทานน้ำซุปต่างๆ แต่น้อย ที่สำคัญก่อนซื้ออาหารสำเร็จรูปควรตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากให้ถี่ถ้วน
ความเคยชินในการรับประทานอาหารรสเค็มจัดนั้นแม้จะปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ ค่อยๆ ลดปริมาณเครื่องปรุงลงเรื่อยๆ เมื่อร่างกายเกิดความเคยชินแล้ว ลิ้นของเราก็จะไม่โหยหารสเค็มอีกต่อไป