เป็นประเด็นดราม่าในสังคมอยู่พักใหญ่กับหลักสูตร “เข็มทิศชีวิต” ของ “ครูอ้อย” รวมถึงการอบรมของ “ดร.ป๊อบ” นำไปสู่คำถามที่หลายคนสงสัยว่าบรรดาคอร์สอบรมที่อ้างว่าใช้เทคนิค “NLP (Nero-Linguistic programming)” ในการโค้ชผู้เข้าคอร์ส ว่าสามารถช่วยบำบัดจิตทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่งดีขึ้นได้จริงหรือไม่?
NLP
หรือ Nero-Linguistic Programming คิดค้นโดย “ศาสตราจารย์ ริชาร์ด แบนด์เลอร์” และผู้ช่วย “ดร. จอห์น กรินเดอร์” แห่งมหาวิทยาลัยซันตาครูซ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นเทคนิคการจัดพฤติกรรมของสมองและจิตใต้สำนึก โดยใช้ชุดภาษาพูดและทางกาย เพื่อช่วยให้บุคคลแปลความสิ่งที่มากระทบใหม่ แล้วตอบสนองเป็นพฤติกรรมใหม่ที่ดีเป็นประโยชน์กับชีวิต ใช้กันแพร่หลายในหมู่นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตบำบัด จิตแพทย์ นักพัฒนาศักยภาพ นักเจรจาต่อรอง นักการตลาด นักขาย และนักพูดโน้มน้าวใจ
ในส่วนของจิตแพทย์อย่าง นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องของ NLP ไว้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สรุปความได้ว่า…
หากเป็นการบำบัดนั้น จะต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก หรือพยาบาล เป็นต้น และถ้าเป็นการบำบัดเฉพาะทางลงไป เช่น NLP ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่เป็นผู้พัฒนาผู้บำบัดในวิธีการนี้
การบำบัดผู้ป่วยด้วยวิธีเฉพาะทางอย่าง NLP ไม่ใช่โปรแกรมที่ใครก็สามารถทำได้ เนื่องจากต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟัง ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว หรือการวางแผนแนวทางให้ผู้ป่วยได้คิดและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ในต่างประเทศที่มีการวิจัยเชิงประจักษ์มากมายว่า การใช้ NLP ในเรื่องการบำบัดอาจไม่ได้ผลมากอย่างที่ทาง NLP ประกาศ และลดบทบาทในการบำบัดลงไปเรื่อยๆ
การที่หลายคนแห่เข้าคอร์มอบรมหาผู้ชี้แนะแนวทางให้แก่ชีวิต อาจสะท้อนได้ว่า หลายคนกำลังประสบปัญหาเรื่องของความอ่อนแอของจิตใจ ซึ่งการดูแลสุขภาพจิตตัวเองให้มีความสุขนั้น ไม่จำเป็นต้องเข้าคอร์สที่ต้องเสียเงินมากๆ ด้วยซ้ำ เพราะทุกคนสามารถดูแลสุขภาพจิตได้เบื้องต้น เช่น การฝึกสมาธิ ฝึกสติ การจัดการกับความเครียดด้วยตนเองด้วยวิธีการฝึกหายใจคลายเครียด การฝึกจินตนาการคลายเครียด
การดูแลสุขภาพจิตด้วยเทคนิคหรือทักษะเหล่านี้ สามารถทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นและยังป้องกันความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางด้านสุขภาพในอนาคตโดยไม่ต้องเปลืองเงินซื้อคอร์สราคาแพงค่ะ