Night Eating Syndrome ไม่ใช่โรคที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่ถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่พบว่า…
คนไข้ของเขามักไม่รู้สึกหิวในช่วงเช้าและระหว่างวัน แต่จะชอบหม่ำในช่วงเย็นจนลงเอยด้วยอาการอ้วน
แม้ชื่อโรคอาจไม่คุ้นหูคุ้นตาใครหลายๆ คน แต่ถ้าลองสำรวจอาการของผู้ป่วยโรคนี้ดูแล้วล่ะก็ เอ๊ะๆ นี่มันคุณนี่นา
Night Eating Syndrome
อาการที่คล้ายอาการกินผิดปกติ (Eating Disorder) โดยผู้ป่วยจะมีความรู้สึกหิวและอยากกินในช่วงเวลากลางคืน แม้จะนอนไปแล้วแต่ก็จะมีการสะดุ้งตื่นมากินอาหารหรือขนมในตอนดึก อย่างบางรายอาจจะสะดุ้งตื่นมาเพื่อกินถึง 3-4 รอบ เพราะรู้สึกว่าถ้าไม่กินมื้อดึกจะนอนไม่หลับ หรือถ้าได้กินแล้วอาจจะนอนหลับสบายทั้งๆ ที่ตอนเช้าหรือระหว่างวันจะไม่ค่อยรู้สึกหิวหรืออยากกินอาหารสักเท่าไหร่กล่าวคือ มีลักษณะการจำกัดการทานอาหารเองกลางวัน และทานมากกลางคืน
เมื่อมีพฤติกรรมเช่นนี้ไปนานๆ ระบบต่างๆ ในร่างกายจะเกิดอาการเรรวนทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ตื่นสาย กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมา และเป็นโรคกระเพาะอาหาร รวมถึงทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน นำไปสู่โรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน
สาเหตุโรค Night eating Syndrome
- ฮอร์โมนผิดปกติ
- เครียดมากเกินไป
- มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล
- ติดนิสัยการกินอาหารไปเรื่อยๆจนนอน หรือกินกลางคืน
- ป่วยเป็นโรคเครียด โรคนอนไม่หลับรวมถึงผู้ป่วยโรคจิตเวช มีปัญหาเสพติดอะไรบางอย่าง และจะทำจนเคยชินกับพฤติกรรมนั้นๆ
ส่วนวิธีการรักษานั้น แบ่งได้เป็น 4 วิธีหลักๆ
- ปรับพฤติกรรมการกินใหม่ทั้งหมดโดยจัดตารางการกินให้อยู่ในช่วงเวลาปกติกระทั่งร่างกายปรับตัวได้
- ลดความเครียดทำจิตใจให้ผ่อนคลาย แจ่มใส
- การรักษาด้วยวิธีจิตวิทยาหรือ การบำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม
- รักษาด้วยฮอร์โมน
โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน หรือบางรายอาจใช้มากกว่าหนึ่งวิธี ยังไงก็หมั่นสังเกตตัวเองกันด้วยนะคะ 🙂