“ห้องทำงาน” เป็นสถานที่ซึ่งหนุ่มสาวชาวออฟฟิศใช้เวลาอยู่ในแต่ละวันนานไม่แพ้ที่บ้านเลยก็ว่าได้แต่รู้หรือไม่ว่าสถานที่ซึ่งให้ความรู้สึกอบอุ่นประหนึ่งบ้านหลังที่สองนี้ อาจมีภัยเงียบที่ทำลายสุขภาพของคุณทีละนิดๆ กว่าจะรู้ตัวอีกที่ก็เจ็บไข้ได้ป่วยโดนโรครุมเร้าซะแล้ว
4 อันตรายจากสารพิษใกล้ตัวในที่ทำงาน พร้อมวิธีป้องกัน!
1. ฝุ่นละอองในสำนักงาน
อาจเกิดจากผงหมึกที่กระจายออกมาจากเครื่องถ่ายเอกสาร ฝุ่นเยื่อกระดาษที่อาจพบตามเอกสารต่างๆ บนโต๊ะทำงาน หรือกระดาษปิดผนังหรือวอลเปเปอร์ โดยฝุ่นเหล่านี้สามารถเข้าไปสะสมในปอดได้
สำหรับอาการเมื่อได้รับสารพิษ ได้แก่ ไอ จาม และระคายเคืองต่อตา จมูก และคันผิวหนัง หากได้รับบ่อยๆ อาจก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคหอบหืดวิธีป้องกัน ควรจัดวางโต๊ะทำงานไม่ให้หนาแน่น ทำความสะอาดห้อง และโต๊ะทำงานเป็นประจำ แบ่งโซนเครื่องถ่ายเอกสารหรือหนังสือให้ไกลจากคนทำงาน
2. เฟอร์นิเจอร์
ในเฟอร์นิเจอร์ไม้มักพบสารฟอร์มาลดีไฮด์ตกค้าง และสารเคลือบเงาเช่น โทลูอีน ไซลีน และ เอธิลเบนซิน รวมถึงสีที่มีสารตะกั่วเป็นส่วนประกอบหลุดลอกจากเฟอร์นิเจอร์ หรือผนังอาคารปะปนกับฝุ่นผงในอากาศเมื่อสูดดมเข้าไปบ่อยๆ ทำให้ระคายเคืองจมูกและลำคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองต่อผิวหรือระบบทางเดินหายใจ
ส่วนสารตะกั่วจะก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดท้องทำลายสมอง ไต ระบบการย่อยอาหารระบบการได้ยินจึงควรหมั่นทำความสะอาดห้องทำงาน จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี
3. สารเคมีจากคอมพิวเตอร์
สารเคมีจากจอคอมพิวเตอร์อาจก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ โดยสารเคมีที่ชื่อ Triphenyl Phosphate ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในจอวิดีโอหรือปากกาเคมี
สำหรับอาการเมื่อได้รับสารพิษ คือระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกและตาวิธีป้องกันให้หมั่นทำความสะอาดห้องทำงานอยู่เสมอ และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี
4. อันตรายจากเครื่องถ่ายเอกสาร
สิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ได้แก่ โอโซน และแสง UV จากหลอดไฟฟ้าพลังงานสูงของเครื่องซีร็อกซ์ การได้รับโอโซนมากๆ จะทำให้ระคายเคืองต่อตา จมูก คอ หายใจสั้น วิงเวียนปวดศีรษะ ล้า และสูญเสียการรับรู้กลิ่น ส่วนรังสี UV จากหลอดไฟฟ้าฯ จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ แสบตา กระจกตาอักเสบ เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
นอกจากนี้ผงหมึกในเครื่องยังเป็นสารเคมีอันตราย หากสูดเข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ไอ จามเพื่อป้องกันอันตรายจากเครื่องถ่ายเอกสารควรปิดฝาครอบให้สนิท ติดตั้งพัดลมดูดอากาศในห้องถ่ายเอกสาร สวมถุงมือขณะเติมหรือเคลื่อนย้ายผงหมึก
รู้แบบนี้แล้วก็ขอให้หลีกเลี่ยงเท่าที่ทำได้กันด้วยนะคะ 🙂