ร้อนนี้ต้องระวังอาหารทะเลปนเปื้อนเชื้อโรคและฟอร์มาลีน

0

เพราะความสุขของใครหลายๆ คน คือ การได้หม่ำอาหารอร่อยๆ ซึ่งของอร่อยที่ว่าก็มี “อาหารทะเล” รวมอยู่ด้วย แต่ปัญหาที่มักพบในฤดูร้อน คือ การเน่าเสียของอาหารทะเล ปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงการปนเปื้อนฟอร์มาลีน เหล่านี้นำไปสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง

อาหารทะเลเป็นอาหารสด เน่าเสียได้ง่าย จึงต้องการเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำ เพื่อป้องกันการเน่าเสีย แต่หากมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค เช่น เชื้ออหิวาต์เทียม ซึ่งมักพบมากในฤดูร้อน จะก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง เพื่อเก็บรักษาอาหารทะเลให้คงความสดยาวนานขึ้น ผู้ประกอบการบางรายจึงนำสารฟอร์มาลินมาใช้แช่อาหารทะเล

หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก จะเกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะ ไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว

เคล็ดลับการเลือกอาหารทะเลไม่ให้พลาด

must-be-careful-of-seafood-contaminated-germs-and-formalin

  1. เลือกซื้ออาหารทะเลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมอนามัย โดยอาหารทะเลที่จำหน่ายควรมีการแช่เย็น หรือแช่น้ำแข็งที่สะอาดในภาชนะที่ใช้สำหรับแช่อาหารทะเลเท่านั้น
  2. การเลือกซื้อปลาต้องเลือกเนื้อปลาที่เนื้อแน่น กดไม่บุ๋ม ไม่มีกลิ่นคาว เกล็ดไม่มีรอยแยกหรือแตกออก, การเลือกซื้อปู ตาปูต้องใส กดที่ท้องปูต้องแน่นไม่ยุบ กระดองไม่แตกร้าว, การเลือกซื้อกุ้ง หัวกุ้งต้องใส หัวกับตัวจะยังติดกันแน่น เพราะกุ้งที่ไม่สด หัวหรือส่วนที่เป็นเปลือกส่วนหัวจะไม่ติดกับตัว, การเลือกซื้อปลาหมึกเนื้อและหนวดของปลาหมึกต้องอยู่ครบและมีลักษณะแน่นแข็งไม่เละ เยื่อหุ้มที่ตัวไม่ฉีกขาด
  3. เมื่อซื้ออาหารทะเลมาแล้ว หากไม่กินทันทีควรเก็บใส่ถุงพลาสติก หรือกล่องพลาสติกที่ปิดสนิท แล้วนำไปแช่ไว้ในห้องแช่แข็งเพื่อชะลอการเน่าเสีย ก่อนนำมาปรุงอาหารต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
  4. เลือกกินอาหารทะเลที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเลดิบ และควรแยกอาหารทะเลที่ปรุงสุกและยังไม่สุกออกจากกัน

ที่สำคัญให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *