ทำเอาคนรักการหม่ำผลไม้แสนอร่อยอย่าง “ลิ้นจี่” เกิดอาการตกอกตกใจกันถ้วนหน้า กรณีสำนักข่าวบีบีซีรายงานอ้างกรณีศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันและอินเดีย พบว่าอาการป่วยลึกลับที่คร่าชีวิตเด็กชาวอินเดียทางตอนเหนือไปมากกว่า 100 คนในแต่ละปี มีสาเหตุมาจากการกินลิ้นจี่ในขณะท้องว่าง
วารสารวิชาการทางการแพทย์ The Lancet ตีพิมพ์งานวิจัยโดยมีใจความสำคัญระบุว่า เด็กในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เสียชีวิตจากการได้รับสารพิษ “ไฮโพไกลซิน (Hypoglycin)” ในผลลิ้นจี่ โดยสารพิษจะไปต่อต้านกระบวนการสร้างกลูโคสในร่างกาย ส่งผลต่อเด็กเหล่านี้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งเด็กที่เสียชีวิตส่วนมากครอบครัวมีฐานะยากจน และไม่ได้รับประทานอาหารเย็นทำให้เด็กตื่นขึ้นมาชักในตอนดึกและหมดสติไป โดยเด็กยังมีอาการสมองบวมรุนแรงด้วย
อ่านแล้วอย่างเพิ่งกลัวจนไม่กล้าหม่ำลิ้นจี่นะคะ เพราะแม้สารไฮโพไกลซินจะมีมากในผลลิ้นจี่ดิบประมาณหลักหมื่น ppm แต่ปริมาณของสารดังกล่าวจะลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อผลเจริญเติบโตเต็มที่หรือผลสุก โดยเมื่อผลลิ้นจี่สุกจะมีปริมาณสารไฮโพไกลซินอยู่ประมาณ 0.1 ppm เท่านั้น และจะอยู่ในเม็ดลิ้นจี่มากกว่าเนื้อ
ฉะนั้นหากเราไม่ได้รับประทานลิ้นจี่ดิบหรือเม็ดลิ้นจี่ รวมถึงไม่ได้ปล่อยให้ท้องว่างหรือขาดสารอาหาร ก็ไม่ต้องกังวลหรือแม้กระทั่งเผลอรับประทานผลดิบไป 2 – 3 ผลก็ไม่เป็นไร สิ่งที่น่ากังวลคือการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงในลิ้นจี่ ดังนั้น ก่อนนำมารับประทานควรทำความสะอาดให้ดีเพื่อป้องกันยาฆ่าแมลงตกค้าง
ในประเทศไทยยังไม่เคยพบรายงานการเสียชีวิตจากการกินลิ้นจี่ ฉะนั้นสามารถรับประทานลิ้นจี่ที่สุกงอมได้ตามปกติ แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี ไม่รับประทานตลอดทั้งวันแทนอาหาร และไม่ควรรับประทานในขณะท้องว่าง
โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ขาดสารอาหาร เป็นต้น ลิ้นจี่ถือเป็นผลไม้ที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์มากทีเดียว อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ เช่น วิตามิน บี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซีน วิตามินเอ ซี วิตามินบี 6 วิตามินอี มีเส้นใยอาหารสูง มีน้ำตาลที่เป็นธรรมชาติ มีไฟโตนิวเทรียนท์ และมีสารที่ทำให้มีรสขมและเฝื่อน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
เพื่อความปลอดภัยควรหลีกเลี่ยงการกินลิ้นจี่ผลดิบและเมล็ดลิ้นจี่ เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อการรับสารไฮโพไกลซิน ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย