ใครที่อยากสร้างตัวตนหรือร่องรอยศิลปะบนเรือนร่างด้วยรอยสัก ขอบอกว่าฟังข้อมูลเหล่านี้แล้วคิดให้ชัวร์ก่อนน้า เพราะไม่ว่าคุณจะสักหรือลบรอยสักด้วยเลเซอร์ก็เท่ากับว่าคุณยอมรับความเสี่ยงของการเกิดสารพัดโรคแล้วล่ะ!!
ภาวะแทรกซ้อนหลังการสักพบได้ร้อยละ 75 แบ่งเป็นอาการทางผิวหนังร้อยละ 68 เช่น ตกสะเก็ด คัน เลือดออก บวม ตุ่มน้ำ เป็นหนอง เป็นต้น ส่วนอาการทั่วไปพบได้ร้อยละ 7 ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ เป็นไข้ และปวดเมื่อย ขณะที่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังพบได้ร้อยละ 6 เช่น แผลเป็น บวมเป็นๆ หายๆ ไวต่อแสง คัน รอยสักนูน สิว ตุ่ม ชา ปัญหาทางจิตประสาท เป็นต้น
สำหรับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงพบได้หลายอย่าง เช่น แพ้บริเวณที่สักทำให้ผิวนูน ตะปุ่มตะป่ำ หรือเกิดเป็นแผลเรื้อรังจากการแพ้สีที่สัก การติดเชื้อ ทั้งไวรัสตับอักเสบบีและซี เชื้อเอชไอวี แบคทีเรียและไมโครแบคทีเรีย เชื้อรา และซิฟิลิส นอกจากนี้ หากเจ็บป่วยต้องเข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอ อาจทำให้มีอาการเจ็บ บวม แดง บริเวณรอยสัก เนื่องจากสีมีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก ทั้งนี้ สาเหตุที่เกิดภาวะแทรกซ้อนและติดเชื้อเกิดจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.สีที่ใช้สัก การปนเปื้อนของสีและน้ำที่มาเจือจางสี 2.เทคนิคการสักที่ไม่ดี 3.สถานที่สักไม่ปลอดเชื้อ 4.เครื่องมือที่ใช้สักไม่ได้มาตรฐาน และ 5.จากปัจจัยของแต่ละบุคคลเอง
สีดำเป็นสีที่นิยมใช้ในการสักมากที่สุด ส่วนประกอบหลักคือ carbon black ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ พลาสติก และอุตสาหกรรมสี มีส่วนประกอบหลายอย่างที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในคน มีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งในปริมาณสูง เกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ถึง 23,500 เท่า
อย่างไรก็ตาม แม้สารก่อมะเร็งจะพบในปริมาณสูงมาก แต่จากรายงานเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนังกลับพบค่อนข้างน้อย เนื่องจากสารก่อมะเร็งและโลหะหนักจะเกาะกันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ ส่วนการใช้เครื่องเลเซอร์ลบรอยสัก พบว่า ทำให้ขนาดอนุภาคของสีสักลดลงถึง 8 เท่า และมีการปล่อยสารก่อมะเร็งต่างๆ ออกมาจากเม็ดสีเป็นปริมาณมาก แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะบอกได้ว่าการลบรอยสักจะก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวผู้ป่วยระยะยาวมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่มีการศึกษาผลกระทบจากการใช้เลเซอร์รักษารอยสักกับการปล่อยสารก่อมะเร็งต่างๆ ออกมาจากเม็ดสี ทำให้ในบางประเทศ เช่น เยอรมนี แพทย์จะปฏิเสธที่จะใช้เลเซอร์รักษารอยสักในผู้ป่วย เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่ยังไม่ทราบแน่ชัด