เก็บยาอย่างไรให้คงคุณภาพในช่วงฝนตกน้ำท่วม

0

ยา คือ หนึ่งในปัจจัย 4 ใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยหรือรักษาให้หายขาดจากโรค  แม้เราจะทราบกันดีถึงความสำคัญของยา แต่บางครั้งก็อาจพลาดพลั้งได้ หนึ่งในเรื่องพลาด ๆ ที่หลายคนมักมองข้าม คือ การเก็บรักษายา ยิ่งในช่วงฝนตกน้ำท่วมนี้ บอกเลยว่าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

การเก็บรักษายาอย่างถูกต้อง นับเป็นข้อที่ควรปฏิบัติเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของยาให้ยังคงมีประสิทธิภาพในการรักษา ลดการเสื่อมสลายของยาที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อยาสัมผัสกับปัจจัยที่มีผลต่อความคงตัวของยาในสภาพแวดล้อม และยังช่วยลดการเกิดอันตรายจากการใช้ยาที่เสื่อมคุณภาพ

ปัจจุบันปัญหาการเก็บยาที่พบได้บ่อยคือ การแบ่งยาที่ต้องรับประทานแต่ละมื้อใส่กล่องเตรียมไว้สำหรับแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์เพื่อความสะดวก โดยการนำเม็ดยาออกจากแผงยาส่งผลให้ยาสัมผัสกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อความคงตัวของยา ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาโรค ทำให้ยาออกฤทธิ์ลดลง และอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยาที่เสื่อมคุณภาพ

ปัจจัยที่มีผลต่อความคงตัวของยา ได้แก่

1. อุณหภูมิ อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไปจะมีผลต่อคุณภาพของยาได้ โดยอุณหภูมิที่เก็บรักษายาทั่วไปคือ อุณหภูมิห้อง ยาบางชนิดอาจระบุให้เก็บในตู้เย็นแนะนำให้เก็บในช่องธรรมดา

2. แสง แสงอาจเป็นตัวเร่งให้ยาสลายตัวเร็วขึ้นได้ หลีกเลี่ยงได้โดยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันแสง

3. ความชื้น ความชื้นทำให้ยาที่อยู่ในรูปของแข็งไม่คงตัว อาจทำปฏิกิริยาโดยตรงต่อคุณภาพของยาได้

จะเห็นได้ว่าความชื้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ โดยเฉพาะสถานการณ์ในปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝนและหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัย ทำให้ยามีโอกาสสัมผัสความชื้นได้มากขึ้น ซึ่งตัวยาหลายชนิดเมื่อเจอความชื้นตัวยาจะเกิดการสลายตัวและแปรสภาพ

ลักษณะยาที่เสื่อมคุณภาพและไม่ควรนำมารับประทานคือ สีของเม็ดยาเปลี่ยนไป เม็ดยาอาจเยิ้มเหนียวติดกัน หรือมีกลิ่นผิดปกติ แคปซูลบวม สีผงยาด้านในแคปซูลเปลี่ยนไป ยาสำหรับผู้ป่วยโรคระบบประสาทที่ไวต่อความชื้นได้แก่ ยากันชัก ยาพาร์กินสัน ยาโรคสมองเสื่อม ยาฆ่าเชื้อ ยาลดความดันโลหิต และยาแอสไพริน

ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด และปิดให้สนิททุกครั้งหลังใช้ หลีกเลี่ยงการเก็บยาบริเวณที่มีความชื้นสูง หลีกเลี่ยงการแกะเม็ดยาออกจากแผง หากจำเป็นควรตัดแผงยาออกเป็นขนาดเล็ก ตามจำนวนเม็ดที่ต้องรับประทาน ยาเม็ดเปลือยที่บรรจุในกระปุกยา ควรแบ่งยาใส่กล่องแบ่งยาทีละน้อย เท่าจำนวนที่รับประทาน กรณีอยู่ในพื้นที่อุทกภัยให้เก็บยาในที่สูง โดยเฉพาะยาที่ไวต่อความชื้นและมีราคาสูง หากเป็นยาที่ต้องเก็บในตู้เย็น อาจใช้ลังบรรจุน้ำแข็งหรือกระเป๋าเก็บความเย็น

การจัดเก็บยาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยที่รับยาจากโรงพยาบาลได้ใช้ยาที่มีคุณภาพดีและส่งผลต่อการรักษาที่ดีที่สุด 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *