กระแสรักสุขภาพยังคงได้รับความนิยมในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการหม่ำอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ อาหารคลีน, อาหารออแกนิคการออกกำลังกายตามสถานที่ต่างๆ เช่น ฟิตเนส สวนสาธารณะ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการขาดความรู้ที่ถูกต้องในการออกกำลังกาย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว หากออกกำลังกายอย่างไม่ระวังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ในการออกกำลังกายที่ถูกต้องไม่เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เราจะกล่าวถึง ได้แก่ 2 โรคยอดนิยมอย่างโรคหัวใจ และโรคเบาหวาน
ผู้ป่วย “โรคหัวใจ”
ควรออกกำลังหรือเล่นกีฬาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ในช่วงแรกควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ค่อยเป็นค่อยไป และหยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก หลังจากที่เริ่มเคยชินให้เพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกาย จนสามารถทําได้อย่างต่อเนื่องนาน 15 นาทีขึ้นไป และทําเป็นประจําทุกวัน ที่สำคัญควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ใช้กำลังมากและมีการแข่งขัน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ยกน้ำหนัก เพราะจะเพิ่มภาระต่อระบบหัวใจและปอดมาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือหัวใจวายเฉียบพลันอาจทำให้เสียชีวิตได้
ผู้ป่วย “โรคเบาหวาน”
ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน
เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในโลหิตต่ำขณะนอนจากไกลโคเจนที่สะสมในกล้ามเนื้อและตับถูกใช้ในการออกกำลังกายจนหมด หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายโดยใช้กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดอินซูลินอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หลังฉีด เพราะจะถูกดูดซึมสู่กระแสโลหิตเร็วเกินไป อย่าออกกำลังในช่วงที่อินซูลินออกฤทธิ์สูงสุด ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานควรงดการแข่งขันกีฬาหรือการเกร็งกล้ามเนื้อโดยไม่เคลื่อนไหว การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ การเดิน การแกว่งแขน รำมวยจีน วิ่งเหยาะๆ เดินเร็ว ขี่จักรยานช้าๆ ว่ายน้ำช้าๆ
ใครที่มีคนใกล้ชิดเป็นผู้ป่วย 2 โรคนี้ ก็พยายามเฝ้าระวังในเรื่องการออกกำลังกายกันด้วยนะคะ!