สีผมธรรมชาติของคนไทยโดยทั่วไปจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงเกือบดำ โดยสีดำมาจากเม็ดสีเมลานินที่สร้างจากเซลล์เมลาโนไซต์ในรากผม ผมจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวเนื่องจากการทำงานของเมลาโนไซต์ที่ลดลง รวมถึงตามอายุที่มากขึ้น และกรรมพันธุ์ ซึ่งตัวช่วยสำหรับคนที่ไม่พอใจในสีผมของตัวเอง คือ ยาย้อมผม
ยาย้อมผม เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมมากในปัจจุบัน มีจำหน่ายทั่วไป หาซื้อได้ง่าย หลายคนมีปัญหาผมหงอก ต้องการใช้ยาย้อมผมเพื่อปิดผมหงอก จึงมักใช้ผลิตภัณฑ์ยาย้อมสีผมติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งสารเคมีที่อยู่ในยาย้อมผม สามารถทำอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพของเราได้ หากขาดความระมัดระวังในการใช้
ยาย้อมผมเคมี หรือ Permanent hair dye มีส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้
1. Developer คือสารที่ใช้ล้างสีผมเดิม ส่วนประกอบหลักคือ hydrogen peroxide ทำหน้าที่กัดสีผมเดิมออก เพื่อให้ได้สีผมใหม่ที่มีความสดและสม่ำเสมอ hydrogen peroxide นี้นอกจากทำให้เส้นผมแห้งเสียและยังระคายเคืองหนังศีรษะด้วยความที่เป็นด่างสูง
2. Alkaline agent คือสารที่ทำลายโปรตีนเส้นผม ทำให้เกล็ดผมเปิดออกเพื่อให้สีย้อมเข้าไปถึงแกนของเส้นผมได้ง่าย ส่วนประกอบหลักคือแอมโมเนีย เมื่อเส้นผมต้องสัมผัสกับแอมโมเนียบ่อยๆ จะทำให้ผมขาดร่วงง่าย
3. Color คือสารย้อมหลักๆ ที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ PPD (para-phenylenediamine) และ PTDS (para-toluenediamine sulfate) ซึ่งเป็นสารย้อมทางเลือกสำหรับใครที่แพ้ PPD แต่สามารถแพ้ข้ามชนิดกันได้ สีย้อมที่ยิ่งเข้มดำยิ่งมีสารย้อมที่เข้มข้นกว่าสีอ่อน ในส่วนของสาร PPD นั้น มักก่อให้เกิดการแพ้มากที่สุดในกลุ่มผู้ใช้งาน โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ ระยะเวลาในการย้อม และสภาวะของร่างกายของแต่ละบุคคล
4. ส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งแล้วแต่แบรนด์ต่างๆ จะเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อจุดประสงค์การขาย เช่น สารสกัดจากธรรมชาติต่างๆ น้ำหอม และสารกันเสีย
การใช้ยาย้อมผมเป็นประจำหรือการย้อมสีผมบ่อยๆ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังบริเวณศีรษะ หน้าผาก หู ดวงตา และคอ รวมถึงก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยอาการแพ้นั้นอาจเป็นผื่นเล็กน้อยบริเวณที่สัมผัส หรืออาจมีการแพ้ในระดับรุนแรง ผิวหนังมีอาการผื่นบวมคัน มีน้ำเหลืองซึม หน้าบวม ตาบวม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะและคอบวมโต โดยอาจมีไข้ร่วมด้วยได้ในบางราย หากมีอาการแพ้รุนแรงจะทำให้หายใจลำบากและหมดสติได้ ดังนั้น ก่อนใช้จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบการแพ้ก่อนทุกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้ป่วยที่มีการสัมผัสกับสารย้อมต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง มีค่าเอนไซม์ตับที่เพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมจากการสัมผัสสารย้อมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรคมะเร็งนั้น ทุกวันนี้ ยังไม่มีงานวิจัยใดที่สามารถเป็นหลักฐานยืนยันว่ายาย้อมผมก่อมะเร็งได้ แต่มีงานค้นคว้าบางส่วนพบว่า การใช้ยาย้อมสีผมเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
ดังนั้น หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำสีผม ควรยืดระยะเวลาระหว่างการทำสีแต่ละครั้งให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดการสัมผัสกับสารที่ก่ออันตรายต่อร่างกายให้น้อยที่สุด