ทำเอาสายตี้หมูกระทะตื่นตระหนกไม่น้อยจากกรณีตรวจพบวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลีน ส่งขายร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสาน แม้จะพอทราบว่าฟอร์มาลีนเป็นสารที่อันตราย แต่หลายคนยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสารนี้ ว่าแล้วไปทำความรู้จักสารฟอร์มาลีน เพื่อรู้วิธีหลีกเลี่ยง จะได้ไม่พลาด
ฟอร์มาลีน (Formalin) เป็นสารพิษชนิดหนึ่งประกอบด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ละลายน้ำด้วยความเข้มข้น 37% โดยน้ำหนัก และมักผสมเมทานอลประมาณ 10-15% สารฟอร์มาลีนมีสถานะเป็นสารละลาย ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง คุณสมบัติแตกต่างกันตามความเข้มข้นฟอร์มาลดีไฮด์ในน้ำและอัตราส่วนผสมของเมทานอล มีการนำฟอร์มาลีนมาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำฆ่าเชื้อและน้ำยาทำความสะอาด ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ สิ่งทอ และการผลิตสี นอกจากนี้ ในทางการแพทย์มีการนำฟอร์มาลีนมาใช้สำหรับรักษาสภาพร่างกายของศพไม่ให้เน่าเปื่อย
เนื่องจากสารฟอร์มาลีนถูกนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามนำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหาร ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลีน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิตจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ หากตรวจพบการกระทำดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนเข้าไปในปริมาณมากก็จะเกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบเป็นแผล หากได้รับในรูปของไอระเหยหรือสูดดมจะมีฤทธิ์ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิต หากสัมผัสสารนี้โดยตรงจะทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษจนถึงผิวหนังไหม้หรือหากสัมผัสที่ดวงตาจะระคายเคืองมากทำให้เป็นแผลได้
จากรายงานขององค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer; IARC) จัดให้สารฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีนเป็นสารก่อมะเร็ง Group 1 ซึ่งหมายถึงมีข้อมูลยืนยันแน่ชัดแล้วว่าสารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยข้อมูลงานวิจัยที่ศึกษาในผู้ที่สัมผัสสารนี้ในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องยาวนาน เช่น คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่าสารนี้เป็นสาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาว (myeloid leukemia) และมะเร็งโพรงจมูก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสสารฟอร์มาลีนนั้นเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งจากการรับประทาน การหายใจ และทางผิวหนัง รวมถึงระยะเวลาที่สัมผัส สำหรับอาการเฉียบพลันจากการสัมผัสสารในความเข้มข้นระดับต่ำอาจทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น การระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน แสบจมูก ปวดศีรษะ ระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ เกิดผื่นคัน ผิวหนังคล้ำดำ แสบคันตามผิวหนัง เป็นต้น
ดังนั้น ผู้ที่นิยมกินอาหารนอกบ้าน ก่อนกินเนื้อหมู เนื้อวัว หรืออาหารทะเลทุกครั้ง ควรสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้ามีกลิ่นฉุน ๆ แปลก ๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรบริโภค เนื่องจากอาจปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน