การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ แต่ถ้าหากได้รับการการปฐมพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการนั้นๆ อย่างถูกวิธี ย่อมส่งผลดีต่อการรักษาในขั้นต่อไป ตรงกันข้ามการปฐมพยาบาลผิดวิธีอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นหรือเสียโอกาสในการคืนสู่สภาพปกติ ดังนั้นการปฐมพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรเรียนรู้ค่ะ
จากกรณีเด็กนักเรียนถูกประตูหนีบนิ้วจนขาด แต่ไม่สามารถต่อนิ้วที่ขาดได้ เพราะการส่งต่อไปทำการรักษาล่าช้าตามที่สื่อหลายแห่งได้มีการนำเสนอข่าวไปนั้น เพื่อบรรเทาความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนใกล้ชิดในอนาคต
เราจึงขอรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีเมื่อ “นิ้วขาด” มาฝากค่ะ
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ว่า…
หากเราพบเห็นบุคคลที่นิ้ว หรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจน ทำให้เสียเลือดมากนั้นสิ่งที่เราต้องทำเป็นอันดับแรกคือตั้งสติและรีบโทร.ขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ให้รีบเข้ามารับผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลให้ได้อย่างทันท่วงที
และในระหว่างที่เรากำลังรอเจ้าหน้าที่เดินทางเข้ามาให้ความช่วยเหลือนั้น ก็ควรที่จะปฐมพยาบาลผู้ป่วยโดยให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่น เพื่อป้องกันเลือดออก ทั้งนี้ ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน
ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาด คือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมากๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม.
ดังนั้น การส่งผู้ป่วยไปทำการรักษาให้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวก็จะช่วยทำให้แพทย์สามารถรักษาอวัยวะที่ขาดให้กลับมาใช้งานได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญ คือ การตั้งสติ และทำการปฐมพยาบาลอย่างรวดเร็วค่ะ