เนื่องจากวันที่ 26 ตุลาคมนี้ เป็นวันงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงมีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาร่วมงานดังกล่าว อาจทำให้ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอเกิดอาการเป็นลมได้ เราจึงควรศึกษาวิธีปฐมพยาบาลคนเป็นลม เพื่อให้สามารถดูแลคนรอบข้างได้อย่างทันท่วงทีและถูกวิธีค่ะ
“การเป็นลม” เป็นการหมดสติชั่วคราวในช่วงเวลาสั้นๆ เกิดจากมีเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงชั่วขณะ พบได้บ่อยในคนทุกวัย และพบบ่อยขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
หากพบในคนอายุต่ำกว่า 30 ปี มักมีสาเหตุที่รุนแรง โดยงเหตุกระตุ้นที่มักทำให้เกิดอาการเป็นลม เช่น ฝูงชนแออัด กลางแดด อากาศร้อน อดนอน การยืนนานๆ
การช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยเป็นลม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธีพร มูลศาสตร์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- ให้การปฐมพยาบาล ขั้นตอนสำคัญที่สุดที่ควรกระท่าเป็นอันดับแรกคือ การจับผู้ป่วยนอนหงายศีรษะต่ำ ยกขาสูงกว่าหัวใจ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะสำคัญให้ดีขึ้นอย่างเพียงพอ ซึ่งมักจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นได้ภายในเวลาสั้นๆ แต่ควรระวังในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกขาหรือไขสันหลังหัก
- คลายเสื้อผ้า สายรัด หรือเข็มขัด เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดสะดวกขึ้น
- ในกรณีที่จับผิวหนังผู้ป่วยแล้วรู้สึกว่าร่างกายเย็นชืด ควรดูแลความอบอุ่นของร่างกาย โดยการห่มผ้า แต่ถ้าเป็นลมจากอากาศร้อน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามหน้าและลำคอ
- ตรวจนับการหายใจและจับชีพจรที่ข้อมือหรือคอดูการเต้นของหัวใจและสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
- ถ้าผู้ป่วยมีอาการเป็นลมบ่อย ควรส่งไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัด
ทั้งนี้ อย่าให้ผู้ป่วยกินหรือดื่มอะไรขณะที่ยังไม่ฟื้น เพราะจะทำให้สำลักเป็นอันตรายได้ และเมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว ให้นอนพักต่ออีกสักครู่ อย่าเพิ่งลุกนั่งเร็วเกินไป อาจทำให้เป็นลมซ้ำอีกได้
สำหรับผู้ที่จะมาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ก่อนวันเดินทาง ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและดื่มน้ำเยอะๆ ในขณะที่รอ อาจพก ขนม/ น้ำดื่ม / ร่ม / หมวก /ยาดม ติดตัวไว้ด้วย
สิ่งสำคัญคือเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก หายใจติดขัด หอบเหนื่อย วิงเวียนหน้ามืด ใจสั่น คล้ายจะเป็นลมเกิดขึ้นควรรีบบอกคนรอบข้างเพื่อให้ความช่วยเหลือ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่อย่างทันท่วงทีค่ะ