ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพยังคงได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน ไม่แปลกที่มีสารพัดผลิตภัณฑ์สารพัดยี่ห้อวางจำหน่ายทั้งตามท้องตลาดและสั่งผ่านทางเน็ต ปัญหาคือผู้บริโภคบางคนไม่ได้ศึกษาข้อมูลก่อนรับประทาน จึงไม่ทราบว่ามี “ยาปลุกเซ็กซ์-ลดอ้วน-ยานอนหลับ” ผสมอยู่ในกาแฟ-อาหารเสริมบางยี่ห้อด้วย!!
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ปี 2556 – 2559 กรมวิทย์ฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร จำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, กลุ่มยาลดความอ้วน, กลุ่มยาลดความอยากอาหาร, กลุ่มยาระบาย, กลุ่มยาสเตียรอยด์ และกลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์
ในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ยังคงตรวจพบการปนปลอมของยาแผนปัจจุบันเหล่านี้ ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาที่พบทั้งชนิดเดียวและพบร่วมกัน 2 ชนิด โดยผลการตรวจสอบพบว่า
- กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำนวน 462 ตัวอย่าง เจอกลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 26.2 กลุ่มยาลดความอ้วน เจอร้อยละ 13.7 กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ พบร้อยละ 0.5
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 1,034 ตัวอย่าง พบกลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 42.9 กลุ่มยาลดความอ้วน ออลิสแตท ร้อยละ 11.8 ไซบูทรามีน ร้อยละ 19.2 กลุ่มยาลดความอยากอาหาร ร้อยละ 0.4 กลุ่มยาระบาย ร้อยละ 0.4 กลุ่มยาสเตียรอยด์ ร้อยละ 1.9 พบยาแผนปัจจุบัน 2 กลุ่ม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไซบูทรามีน ร่วมกับทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง และไซบูทรามีน ร่วมกับฟีนอล์ฟทาลีน 2 ตัวอย่าง และยากลุ่มเดียวกัน 2 ชนิด ได้แก่ ไซบูทรามีน ร่วมกับออลิสแตท 3 ตัวอย่าง
- เครื่องดื่ม เช่น โกโก้ผง เครื่องดื่มผงผสมคอลลาเจน เครื่องดื่มคลอโรฟิลล์ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น จำนวน 66 ตัวอย่าง พบกลุ่มยาสเตียรอยด์ ร้อยละ 14.6
- อาหารอื่นๆ ได้แก่ ชาสมุนไพร ข้าวกล้องงอก และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น สารให้กลิ่นรส น้ำตาลมอลโตส สารโคคิวเท็น จำนวน 41 ตัวอย่าง พบกลุ่มยาลดความอ้วน ร้อยละ 11.1
ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น มีหัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก หัวใจเต้นผิดปกติ เลือดออกในสมองหรือปอด ความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตเฉียบพลัน ไซบูทรามีนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก ส่วนออลิสแตทอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ระบบขับถ่ายมีปัญหา ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ เป็นต้น
ฉะนั้นก่อนซื้อกาแฟผงหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีคำรับรองจาก อย. หากมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานทันที และรีบไปพบแพทย์