การบาดเจ็บหลังการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุมีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น อาการฟกช้ำ แผลถลอก จนถึงขั้นรุนแรง ได้แก่ กระดูกหัก และการบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งอาจนำไปสู่ความพิการไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้จึงเป็นเรื่องที่คนใกล้ชิดและตัวผู้สูงอายุเองต้องให้ความใส่ใจ ถ้าไม่อยากเสี่ยงต้องป้องกันไว้ก่อน!!
สถานการณ์การเสียชีวิตจากการบาดเจ็บในทุกกลุ่มอายุทั่วโลก พบว่า มีการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มมากถึงร้อยละ 14 สำหรับประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม ร้อยละ 5 ซึ่งในจำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นผู้สูงอายุ โดยอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงกว่าในทุกกลุ่มอายุเป็น 3 เท่า!
การป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุทำได้โดย…
- หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติของการมองเห็น การเดิน การทรงตัว และการรับรู้ เช่น การตอบสนองได้ช้าลง หรือหากจะเปลี่ยนอิริยาบถควรเปลี่ยนช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันตก
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยฝึกการทรงตัวและการออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เน้นการออกกำลังกายที่ช่วยในการทรงตัวและทักษะการเคลื่อนไหว เช่น โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น
- กรณีที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว ควรจะรู้ผลข้างเคียงของยาที่ใช้ และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ได้แก่ ยาที่ทำให้ง่วงซึม ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ
- ปรับสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้านให้ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น ในกรณีบ้าน 2 ชั้น ควรจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง หมั่นเก็บบ้านให้เป็นระเบียบ ดูแลให้พื้นไม่ลื่น ไม่เปียก มีแสงสว่างเพียงพอ มีราวจับภายในบ้านและห้องน้ำ มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ และใช้โถส้วมแบบนั่งราบ ผู้สูงอายุไม่ควรล็อคประตูขณะใช้ห้องน้ำ ฯลฯ