เราทราบกันดีว่า “ไข่” เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูง หาได้ง่าย และเหมาะสมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย ทั้งนี้แต่ละช่วงวัยมีปริมาณไข่ที่แนะนำให้บริโภคแตกต่างกัน เพราะหากบริโภคมากหรือน้อยเกินไปย่อมส่งผลต่อสุขภาพ นอกจากปริมาณแล้วรูปแบบของไข่และความสุกหรือดิบก็ส่งผลต่อสุขภาพได้เช่นกันค่ะ
ข้อมูลจาก นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า…
“ไข่” เป็นแหล่งของแร่ธาตุและวิตามินอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 วิตามินอี โฟเลต เลซิธิน ลูทีน ซีแซนทีน และ โคลีน ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย
โดยปริมาณไข่ที่แนะนำให้บริโภคนั้น เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ให้เริ่มที่ไข่แดง ต้มสุก วันละครึ่งถึง 1 ฟอง เด็กอายุ 7 เดือนขึ้นไปกินไข่ต้มสุกวันละครึ่งถึง 1 ฟอง และเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปถึงวัยสูงอายุกินไข่ต้มสุกได้วันละฟอง ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง กินไข่ได้ 3 ฟองต่อสัปดาห์หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญ ต้องดูแลการบริโภคอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง
ผู้บริโภคควรกินไข่ควบคู่กับอาหารที่หลากหลายในแต่ละมื้อ โดยให้มีอาหารประเภทข้าว – แป้ง ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ครบทั้ง 5 หมู่ ในสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสม เพื่อคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะผักและผลไม้สดจะช่วยในการกักเก็บน้ำตาลและคอเลสเตอรอล จึงช่วยลดการดูดซึม
ควรเลี่ยงการกินไข่ดิบ เพราะ…
ถ้าไข่ไม่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและไข่ขาวที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งในลำไส้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบีชนิดนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ จึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่
ควรกินในรูปแบบไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ จะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย หรืออาจกินเป็นสลัดไข่ ยำไข่ เพราะจะทำให้ได้สารอาหารที่มีประโยชน์จากไข่ และได้ใยอาหารและวิตามินซีจากผักและผลไม้ ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ขนมปังไข่ดาวใส่เบคอน หรือ ไส้กรอก เพราะจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอน น้ำมันที่ใช้ทอด และเนยที่ทาขนมปัง
สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟัน แนะนำให้ให้กินไข่เป็นแหล่งของโปรตีน ส่วนพ่อแม่ควรใช้วิธีใส่ผักลงไปในเมนูไข่เพื่อเป็นการจูงใจให้เด็กกินผัก โดยจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายแก่เด็กได้ค่ะ