ใครว่าผู้ป่วยโรคหัวใจไม่สามารถออกกำลังกายได้ขอบอกว่าเป็นความคิดผิดถนัดเลยทีเดียวเพราะความจริงแล้วเป็นการดีซะอีกที่ผู้ป่วยออกกำลังกายเพื่อช่วยในการบริหารหัวใจ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การออกกำลังกายควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจแล้ว การออกกำลังกายก็ยังมีประโยชน์อย่างมาก โดยมีจุดมุ่งหมายใหญ่ๆ 2 ข้อ คือ
1 เพื่อลดการดำเนินโรคและยืดอายุผู้ป่วย
2. เพื่อรักษาให้สุขภาพกลับไปแข็งแรงใกล้เคียงหรือเท่าๆ กับก่อนจะเป็นโรคหัวใจ
กับคำถามที่ว่า ออกกำลังกายแค่ไหนถึงพอเหมาะโดยพื้นฐานก็คล้ายๆ กับในคนปกติ?
เพียงแต่ควรจะเน้นไปที่การออกกำลังกายในระดับปานกลางเช่น เต้นแอโรบิค เดินเร็ว ขี่จักรยาน วิ่งเหยาะๆ และว่ายน้ำ ส่วนกีฬาที่แนะนำ ได้แก่ ปิงปอง เทนนิสคู่ กอล์ฟ เป็นต้น
ก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาใดๆ ผู้ป่วยทุกคนควรปรึกษาแพทย์และควรออกกำลังแต่พอเหมาะช่วงที่เริ่มออกกําลังกายระยะแรก ควรซ้อมเบาๆ ค่อยเป็นค่อยไปและหยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก พอเริ่มเคยชินก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาของการออกกำลังกาย จนสามารถทําได้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป และทําเป็นประจําทุกวัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมเตรียมร่างกาย (Warming up and down) ก่อนและหลังการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจจะส่งผลดีต่อสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวในการนำออกซิเจนไปใช้ได้ดีขึ้น ช่วยลดอาการต่างๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ ช่วยในการป้องกันและควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด เพิ่มความสามารถการละลายลิ่มเลือด และปรับปรุงการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ทำให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น มีสภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย ทั้งยังสามารถลดอัตราการตายและทุพลภาพลงได้