ยังคงเป็นโรคระบาดที่สร้างความหวาดผวาให้ประชาชนชาวไทยตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมาจนถึง ณ ขณะนี้สำหรับ“โรคไข้เลือดออก” โดยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯในปี 2558 นั้นมีผู้ป่วย 28,177 ราย เสียชีวิต 5 ราย ส่วนในพื้นที่ทั่วประเทศนั้นมีผู้ป่วยรวม 142,925 รายเสียชีวิต 141 ราย จากตัวเลขเหล่านี้ทำให้ “ไข้เลือดออก” เป็นโรคติดต่อที่เราไม่ควรมองข้าม
“ไข้เลือดออก” (Dengue hemorrhagic fever)
เป็นโรคระบาดที่มีอยู่ด้วยกันถึง 4 สายพันธุ์ (DEN1-4) คือ เดงกี่ 1, เดงกี่ 2, เดงกี่ 3 และ เดงกี่ 4โดยผลัดเปลี่ยนกันมาระบาดตามแต่ความชุกที่แตกต่างกัน อาการของไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูง เบื่ออาหาร อาเจียน กินยาลดไข้แล้วมักไม่ลดลง หรือลดลงชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก
โดยอาการของโรคที่เด่นชัดคือ ผู้ป่วยจะมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายอยู่ตามร่างกาย ช่วงอันตรายของโรคคือ ระยะช็อก (มักเป็นวันที่ไข้ลง) ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีทั้งนี้ไข้เลือดออกไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาเป็นไปแบบประคับประคอง
สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่กรมควบคุมโรคแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ คือ หลัก 3 เก็บ ได้แก่…
- เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บขยะ เศษภาชนะรอบๆ บ้าน ทั้งใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ ต้องเก็บกวาด ฝัง เผา หรือทำลาย
- เก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ ดำเนินการไปพร้อม ๆ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
นอกจากนี้อีกวิธีสำคัญเพื่อดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคไข้เลือดออกก็คือ การป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ทั้งการทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพร หรือยาจุดไล่ยุง