จากกรณีอดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา ผูกคอเสียชีวิตในห้องควบคุมพร้อมผลชันสูตรที่ระบุว่าตายเพราะเลือดออกในช่องท้องจากการถูกของแข็งกระแทก นอกจากคดีจะมีความลึกลับซับซ้อนจนต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดแล้ว
อีกหนึ่งข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้คำตอบก็คือ การปั๊มหัวใจสามารถทำให้ตับแตกได้จริงหรือ?
การปั้มหัวใจด้วยการกดกลางหน้าอกเริ่มมีในปี 2502 ที่จอห์นออฟกินส์ สหรัฐอเมริกา การปั๊มหัวใจกู้ชีพ ต้องมีทักษะที่แตกต่าง ซึ่งปัจจุบันมีการอบรมในหน่วยกู้ชีพกู้ภัยครบทั้งหมดแล้ว โดยทักษะที่จะถูกสอน ผู้ใหญ่จะใช้สองมือปั๊มหัวใจกลางอก เด็ก 12 ปี ใช้มือเดียวในการปั้มหัวใจ เด็กเล็กใช้ 2 นิ้วในการปั๊มหัวใจกลางอก ใช้น้ำหนักในตัวกด ไม่ผ่อนแรงน้ำหนักของผู้ที่จะกู้ชีพ ทำ 30 ครั้ง ติดต่อกัน 18 วินาที
การช่วยเหลือให้ฟื้นคืนชีวิต หรือการทำซีพีอาร์ ตามปกติไม่ค่อยพบการเสียชีวิต ส่วนการปั๊มหัวใจแล้วทำให้ตับแตกนั้น หากพบก็น้อยกว่าร้อยละ 0.1 เพราะการปั๊มหัวใจและตับอยู่คนละจุดกัน โดยการปั๊มหัวใจทำที่ช่องอก ส่วนตับอยู่ในช่องท้อง โดยทั้งสองช่องมีกระบังลมแยกออกอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ การพบอาการตับแตกต้องสอดคล้องกับซี่โครงหักด้วย โดยอาการข้างเคียงของการปั๊มหัวใจส่วนใหญ่จะพบอาการในอวัยวะของช่องอก คือ หัวใจ ปอด และซี่โครง ส่วนมากจะพบอาการซี่โครงหัก
และหากรุนแรงก็จะพบเพียงซี่โครงหักแล้วทิ่มทะลุถุงลมจนรั่ว ส่วนการจะทราบว่าตับแตกจากการกู้ชีพหรือไม่ สามารถดูได้ จากรอยแตกหรือกลีบของตับ ว่า เฉียงไปในทิศทางใด เพราะการปั๊มหัวใจ ไม่มีทางที่ซี่โครงจะไปกระแทกตับอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ในคนปกติทั่วไปหากมีอาการตับแตกแปลว่าได้รับกระทบกระแทกด้วยความแรงระดับหนึ่งจนมีการฉีกขาดเลือดออกที่ตับได้ แต่อาจจะมีหรือไม่มีร่องรอยปรากฏให้เห็นภายนอกก็ได้ซึ่งการมีร่องรอยจะช่วยสนับสนุนว่ามีการกระทบกระแทกจากภายนอก แต่การไม่มีร่องรอยอะไรก็ไม่ได้บอกว่าไม่ได้มีรับการกระทบกระแทกเช่นกัน