ระวัง! ตากผ้าไม่แห้ง เสี่ยง “กลิ่นอับ-เชื้อราขึ้น”

0

ช่วงหน้าฝนแม้บางคนจะชื่นชอบเพราะฝนที่ตกลงมาช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี แถมยังได้ฟีลโรแมนติกไม่น้อย แต่หลายคนกลับเหนื่อยใจกับสภาพอากาศที่เฉอะแฉะ นอกจากเสี่ยงต่อการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว อีกหนึ่งปัญหากวนใจ คือ เสื้อผ้ามีกลิ่นอับชื้นหรือถึงขั้นเกิดเชื้อราขึ้น ซึ่งอาจลุกลามจนเกิดโรคผิดหนังได้ค่ะ

โดย นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า…

ช่วงหน้าฝนมักจะพบปัญหาเสื้อผ้ามีกลิ่นอับชื้น เนื่องจากเปียกฝนหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานานๆ หลายชั่วโมง หรือเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ก็ไม่ได้นำเสื้อผ้าที่เปียกไปแขวนให้แห้ง แต่อาจนำไปใส่ตะกร้าเพื่อรอการซัก หากทิ้งไว้นานๆ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเชื้อราบนเสื้อผ้า

นอกจากนี้บางกรณีแม้ว่าจะซักทำความสะอาดเสื้อผ้าเป็นอย่างดีแล้ว แต่เนื่องจากฝนตกทำให้เสื้อผ้าที่ตากไว้ไม่แห้งหรือแห้งไม่สนิท เมื่อนำมาแขวนรวมๆ กัน ก็อาจทำให้เกิดกลิ่นอับชื้นและเกิดเชื้อราบนเสื้อผ้าได้ เมื่อนำมาสวมใส่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังจากเชื้อราตามมา อาทิ โรคกลาก เกลื้อน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุยรอบๆ และคัน ทำให้เป็นผื่นแพ้ และติดเชื้อได้

วิธีดูแลเสื้อผ้าเพื่อป้องกันการเกิด “กลิ่นอับ” หรือ “เชื้อรา”

beware-dry-clothes-do-not-dry-the-risk-smell-fungus

  1. ก่อนทำความสะอาดเสื้อผ้า ควรอ่านป้ายสัญลักษณ์การดูแลรักษาเสื้อผ้า เพื่อเลือกวิธีทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ดีที่สุด และป้องกันเสื้อผ้าชำรุด
  2. คัดแยกเสื้อผ้าก่อนทำการซัก เสื้อผ้าตัวไหนที่สกปรกมากและมีกลิ่นอับให้แยกออกมา
  3. ควรรีบซักเสื้อผ้าที่เปียกชื้นทันที หรือผึ่งให้แห้งก่อนใส่ตะกร้าเพื่อรอการซัก

หากเสื้อผ้ามีกลิ่นอับชื้น สามารถทำความสะอาดเพื่อทำลายเชื้อราได้ด้วย 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1: ซักตามปกติแล้วนำไปต้มในน้ำเดือดนาน 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

วิธีที่ 2: แช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่สามารถหาได้ในครัวเรือน ได้แก่ น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมโซเดียมไฮโปคลอไรด์ โดยเติม 1 ฝา ต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ผ้าไว้นาน 5 – 15 นาที หรือใช้น้ำส้มสายชู 2 – 3 ถ้วยตวง ต่อน้ำ 1 – 2 ลิตร แช่ผ้าไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง แล้วซักตามปกติ จากนั้นนำไปตากแดดจัดหรือตากในที่ที่มีอากาศถ่ายเท จนแห้ง แล้วนำมารีดทั้งข้างในและข้างนอกตัวเสื้อ

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการคันหลังสวมใส่เสื้อผ้าช่วงหน้าฝน ไม่ควรเกาหรือปล่อยไว้จนลุกลาม ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *