มือใหม่หัด “กระโดดเชือก” ทำอย่างไรไม่ให้พลาด!

0

กักตัวอยู่บ้านกันยาว ๆ ทั้งที มาหากิจกรรมดี ๆ ทำกันดีกว่า ใครที่กำลังมองหากิจกรรมแก้เบื่อที่ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อหัวใจ ช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกินของร่างกายได้มาก ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ช่วยในเรื่องสมาธิ แถมยังสะดวกสามารถทำได้ทุกที่ บอกเลยว่า “กระโดดเชือก” มีครบทุกสิ่งอย่างที่เรากล่าวมาค่ะ

44

 

เมื่อก่อนหลายคนอาจคิดว่าการ “กระโดดเชือก” เป็นการออกกำลังกายของนักมวยหรือ นักฟุตบอลเท่านั้น เพราะต้องใช้พลังขามากเป็นพิเศษ แต่ปัจจุบันการกระโดดเชือกได้กลายเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะกับคนทั่วไป โดยมีอุปกรณ์และวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องดังนี้

 

  1. เชือก : เชือกกระโดดมีหลายวัสดุ เลือกเอาแล้วแต่ความชอบได้เลย เลือกที่มีน้ำหนักพอดีไม่หนักหรือเบาเกินไป เวลาใช้จะได้ไม่พันเป็นเกลียว และต้องมีความยาวพอดีกับเท้าทั้งสองข้าง ทดสอบด้วยการเหยียบตรงกลางแล้วดึงให้ตึง ปลายเชือกอยู่ระดับอกแสดงว่ายาวพอดี

 

  1. เสื้อผ้า รองเท้า : เลือกสวมเสื้อผ้าและกางเกงสำหรับออกกำลังกาย หรือที่ดูทะมัดทะแมง เนื้อผ้าสบายแนบลำตัว ขนาดพอดีตัวไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป ปลายกางเกงห้ามยาวจนกรอมเท้า ขนาดประมาณ 4-5 ส่วนได้ยิ่งดี ส่วนรองเท้าควรเลือกพื้นนุ่ม ๆ ไม่ควรมีน้ำหนักมากจนเกินไป แบบเรียบ ๆ และผูกเชือกรองเท้าให้แน่นด้วย

 

  1. สถานที่ : เลือกพื้นที่ที่เป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีสิ่งของวางรายล้อม หรือระเกะระกะ พื้นต้องเรียบเสมอกันทุกส่วน ไม่ขรุขระ หรือลื่นจนเกินไป ที่สำคัญต้องมีเพดานสูงพอที่เชือกจะแกว่งแล้วไม่โดนเพดาน หรือโคมไฟ

 

  1. มือใหม่หัดกระโดด : ควรกระโดดค่อย ๆ ช้า ๆ ไม่ต้องสูงมาก แค่เท้าพ้นเชือกก็พอ และควรจะกระโดดทีละเท้าก่อนเพราะจะเหนื่อยน้อยกว่ากระโดดทั้งสองเท้าพร้อมกัน ส่วนแขนและข้อศอกต้องแนบข้างลำตัวแกว่งเฉพาะมือและปลายข้อมือเท่านั้น และต้องย่อเข่า เพื่อลดแรงกระแทกด้วย

 

  1. ช่วงเวลาที่กระโดด : เวลาที่ดีในการออกกำลังกาย คือช่วงเช้าก่อนทานอาหาร และหลังทานอาหาร 3-4 ชั่วโมงเป็นต้นไป และก่อนกระโดดอย่าเผลอดื่มน้ำเยอะ เพราะอาจเกิดอาการจุกได้ และควรวอร์มร่างกายก่อนกระโดด 3-5 นาที

 

  1. ระยะเวลาที่กระโดด : ช่วงเริ่มต้นควรเริ่มกระโดดแค่ 20 วินาที จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และให้ได้อย่างน้อยวันละ 10 นาที ความเร็วที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 70-80 ครั้งต่อนาที หากชำนาญแล้วยค่อยเพิ่มเป็น 100 – 400 ครั้งต่อนาที

 

ข้อควรระวังคือผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมหรือมีอายุมากกว่า 60 ปี ไม่ควรออกกำลังกายด้วยการกระโดดเพราะอาจเกิดอาการบาดเจ็บ ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *