จากสถานการณ์พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อป้องกันสุขภาพเมื่อเผชิญปัญหาฝุ่นควันขนาดเล็ก รวมถึงเมื่อจำเป็นต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศ เรามีคำแนะนำดีๆ มาฝากค่ะ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า
สภาพอากาศที่เกิดขึ้นใน กทม.และปริมณฑลนี้ มาจากหลายสาเหตุ เช่น การจราจร อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง ซึ่งในสภาพอากาศลักษณะนี้ กลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนที่ป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคเยื่อบุตาอักเสบ, โรคผิวหนัง รวมถึงผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นขนาดเล็ก
การดูแลและป้องกันสุขภาพเมื่อเกิดฝุ่นขนาดเล็ก
- ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง
- อาคารบ้านเรือน ให้ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน เพื่อเป็นตัวกั้นฝุ่นไม่ให้เข้าบ้าน
3 - หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก ถ้าอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นให้ใช้หน้ากากกรองฝุ่นหรือหาผ้าเปียกมาปิดจมูก
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และการทำงานหนักที่ออกแรงมาก เพราะการหายใจเร็วในระหว่างการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมาก
- ให้ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก
- ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก จะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ในการรับประทานยา การรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการทรุดลง และหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสกับอากาศที่มีฝุ่นละออง หรือมีการใช้หน้ากากกันฝุ่น
- ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป
- ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ก่อปัญหาซ้ำเติม หรือทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงอีก
สำหรับผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ควรดูแลอย่างใกล้ชิดและหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วย หากพบอาการผิดปกติให้รีบนำตัวส่งสถานพยาบาลเพื่อรับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีค่ะ