“มะเร็งเต้านม” ได้ชื่อว่าเป็นโรคร้ายที่สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้หญิงทั่วโลกมายาวนาน และในประเทศไทยก็มีจำนวนผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในยุคที่โลกเชื่อมถึงกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ต เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มหาศาล ปัญหาก็คือข้อมูลที่ว่าเชื่อถือได้มากแค่ไหน ในส่วนของ “มะเร็งเต้านม” ก็เช่นกัน เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังข้อมูลมามาก ว่าแต่ที่คุณรับรู้มามันถูกต้องหรือเปล่าล่ะ?
1. เป็นมะเร็งเต้านม เพราะคนในครอบครัวเคยเป็นมาก่อน
ความจริงแล้วมีผู้หญิงกว่า 70% ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม โดยที่คนในครอบครัวไม่มีใครเคยเป็นมาก่อน แต่ทางการแพทย์ระบุว่า หากคนในครอบครัวเช่น ย่า ยาย หรือแม่ เคยเป็นมาก่อนก็มีความเสี่ยงสูงที่ลูกสาวจะเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน
2. ใส่ชุดชั้นในทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
เชื่อกันว่าโครงชุดชั้นในจะไปกดทับต่อมน้ำเหลืองที่เต้านมจนเกิดการสะสมของ พิษและก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่การเสื้อชั้นในตลอดเวลาอาจจะทำให้อึดอัด และการไหลเวียนของเลือดบริเวณหน้าอกไม่ดีมากเท่าที่ควร
3. ศัลยกรรมหน้าอกทำให้เป็นมะเร็ง
ขณะนี้ยังไม่มีรายงานวิจัยชิ้นไหนระบุว่าการทำศัลยกรรมหน้าอกทำให้เกิด มะเร็งเต้านม แต่ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมหลังจากทำศัลยกรรมมักเกิดจากสาเหตุอื่นๆ มากกว่า
4. ผู้หญิงหน้าอกเล็กไม่เป็นมะเร็งเต้านม
แพทย์ระบุว่าไม่ว่าจะมีขนาดหน้าอกเล็กหรือใหญ่ก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้ พอๆ กัน ดังนั้นการตรวจสุขภาพเต้านมจึงจำเป็นสำหรับผู้หญิงหน้าอกเล็กด้วยเช่นกัน
5. มีก้อนเนื้อเท่านั้นถึงเป็นมะเร็งเต้านม
ข้อสังเกตของมะเร็งเต้านมไม่ใช่เพียงคลำเจอก้อนเนื้อเท่านั้น แต่ยังมีอาการอื่นได้ด้วย เช่น ผิวที่เต้านมเป็นผื่นแดง หัวนมเปลี่ยนสี เจ็บหัวนมตลอดเวลา ผิวเต้านมและหัวนมหนาและแข็งขึ้น หรือเต้านมบวม
6. ผลตรวจแมมโมแกรมเชื่อได้ 100%
จากการศึกษาพบว่า การเอกซเรย์ด้วยแมมโมแกรมเพื่อหามะเร็งเต้านมอาจคลาดเคลื่อนได้ถึง 20% ดังนั้นการตรวจหาด้วยการคลำ การสังเกตอาการอื่นยังจำเป็นอยู่สำหรับผู้หญิงที่ยังตรวจไม่พบมะเร็งเต้านม
7. การตัดเต้านมออกจะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าการฉายรังสีรักษามะเร็งเต้านม
จากการรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิงทั่วโลกพบว่า ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดก็มีโอกาสรอดชีวิตเท่าๆ กัน ขึ้นอยู่กับการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งและการดูแลอย่างเหมาะสม
8. มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ป้องกันได้
การวิจัยระบุชัดเจนว่า มะเร็งเต้านมไม่ใช่โรคที่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถทำได้เพียงการลดความเสี่ยงต่างๆ หรือการตรวจพบมะเร็งให้ไวที่สุดเพื่อทำการรักษาให้หาย