ประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าเป็นภัยสุขภาพที่น่าเป็นห่วง แม้จะเป็นโรคอันตรายแต่หากผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ตรงกันข้าม ความเชื่อผิด ๆ อาจส่งผลร้ายทำให้อาการเบาหวานแย่ลงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
5 ข้อว่าด้วยโรคเบาหวาน จริงหรือเท็จ รู้ไว้ไม่พลาด
ประเด็นที่ 1 : อินทผาลัมช่วยรักษาโรคเบาหวานได้
ข้อเท็จจริง : การกินอินทผาลัมอย่างเดียวรักษาโรคเบาหวานไม่ได้ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องร่วมกับการคุมอาหารเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอินทผาลัมมีโพแทสเซียมสูง ผู้ที่มีปัญหาเรื่องไตและหัวใจควรหลีกเลี่ยง อินทผาลัมเป็นแหล่งพลังงานที่ดี ถ้าอินทผาลัมสดจะได้น้ำตาลน้อยกว่าแบบแห้ง คนทั่วไปกินได้เฉลี่ย 5-10 ผล/วัน แทนการกินน้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยวที่มีแต่แป้ง ไขมัน และน้ำตาล จะได้ประโยชน์ดีกว่า
ประเด็นที่ 2 : ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยง ผักและผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลเกินกว่า 20%
ข้อเท็จจริง : ไม่มีแหล่งอ้างอิงของข้อมูลที่ปริมาณน้ำตาลในผลไม้ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ และไม่จำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงทุกชนิด เนื่องจากการรับประทานของแต่ละคน ความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ควรจะเน้นที่กระจายคาร์โบไฮเดรตต่อวันและเรื่องของการคุมสัดส่วนในการรับประทานมากกว่า เช่น ควรรับประทานผลไม้ 1 ส่วนต่อมื้อ 2-3 มื้อต่อวันให้หลีกเลี่ยง โดยจะอ้างอิงจากค่า Glycemic Index(GI) ถ้ามีค่าGl สูงกว่า 70 ก็จะไม่แนะนำให้รับประทาน
ประเด็นที่ 3 : บอระเพ็ดดองน้ำอัดลมแก้โรคเบาหวานได้
ข้อเท็จจริง : บอระเพ็ดมีสรรพคุณในการลดบวม และต้านการอักเสบได้จริง และพบว่าการรักษาแบบดั้งเดิม ก็มีการใช้รักษาในกลุ่มโรคไขข้อ เบาหวาน ความดัน แต่วิธีการใช้บอระเพ็ดรักษาโรคเบาหวานนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน อย่างไรก็ตาม วิธีการนำบอระเพ็ดมาดองน้ำอัดลมเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรปฏิบัติตาม
ประเด็นที่ 4 : กระดุมทองช่วยรักษาโรคเบาหวานได้
ข้อเท็จจริง : กระดุมทอง เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลงานวิจัยในสัตว์ทดลองยืนยันว่ามีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และไม่มีความเป็นพิษ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะโรคเบาหวาน ยังมีความจำเป็นได้รับการดูแลจากแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ หากจะรับประทานสมุนไพรกระดุมทอง ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์แผนไทย/ แพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
ประเด็นที่ 5 : ปอขี้ตุ่น ต้มน้ำอาบช่วยรักษาแผลเบาหวานได้
ข้อเท็จจริง : ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัยของการรักษาแผลเบาหวาน ด้วยสมุนไพรปอขี้ตุ่น และเนื่องจากแผลจากเบาหวานสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ หากมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน ดังนั้น ไม่แนะนำใช้รักษาแผลดังกล่าว ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง แผลที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เป็นแผลที่หากรักษาไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเสียชีวิตจากแผลที่ลุกลามทำให้การติดเชื้อในกระแสเลือดได้
การป้องกันภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี พบแพทย์สม่ำเสมอ ใช้ยาตามแพทย์สั่ง หากมีอาการผิดปกติหรือเป็นแผลให้รีบไปพบแพทย์ที่รักษา ห้ามปรับยาเอง หรือพยายามรักษาด้วยตัวเอง