4 ประเด็นว่าด้วยโรคหัวใจ จริงหรือเท็จ รู้ไว้ไม่พลาด

0

โรคหัวใจ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม แม้โรคหัวใจจะเป็นโรคอันตราย แต่หากเราดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีจะช่วยป้องกันการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงของโรคได้ การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหัวใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ

4 ประเด็นว่าด้วยโรคหัวใจ จริงหรือเท็จ รู้ไว้ไม่พลาด

ประเด็นที่ 1 : เส้นเลือดขอดเป็นสัญญาณเสี่ยงโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบตัน

ข้อเท็จจริง : เส้นเลือดขอดที่เกิดบริเวณขาเกิดจากลิ้นของหลอดเลือดดำปิดไม่สนิท ทำให้เกิดการคั่งของหลอดเลือดดำจนโป่งและขยายตัวเกิดเป็นเส้นเลือดขอด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตันซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต

ประเด็นที่ 2 : 9 อาการที่จะทำให้เป็นโรคหัวใจระยะแรก คือ เหงื่อออกง่าย, อ่อนแรงบริเวณแขน ขา, ข้อเท้าบวม, นอนกรน, ไอเรื้อรัง, ปวดหลัง, หัวใจเต้นผิดปกติ, เจ็บหน้าอก, หน้ามืด

ข้อเท็จจริง : ภาวะโรคหัวใจเกิดได้ทั้งแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลัน อาการของโรคหัวใจที่ท่านควรไปปรึกษาแพทย์ โดยจำแนกตามชนิดของโรคดังต่อไปนี้

1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จะมีอาการแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับกลางอก อาจร้าวไปที่แขนซ้ายด้านใน ใต้ลิ้นปี่หรือกราม เมื่อพักหรืออมยาใต้ลิ้นจะรู้สึกดีขึ้น หายใจไม่ออกหรือเหนื่อยเวลาออกแรง หน้ามืดจะเป็นลมได้

2. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการ ใจสั่น รู้สึกหวิวๆ หน้ามืด วูบจนหมดสติได้

3. โรคหัวใจล้มเหลว จะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวกขณะนอนราบ ลุกขึ้นมานั่งจะรู้สึกดีขึ้น บางครั้งมีอาการนอนราบแล้วไอ ขา 2 ข้างบวมกดบุ๋ม

อย่างไรก็ตาม ภาวะนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ไม่ใช่อาการระยะแรกของโรคหัวใจ ส่วนอาการไอเรื้อรังมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น ไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีน้ำเกินซึ่งเป็นระยะที่แสดงอาการและมีอาการมากขึ้นเมื่อนอนราบร่วมกับอาการหอบเหนื่อยหรือขาบวมกดบุ๋มไม่ใช่อาการระยะแรกของโรคหัวใจ ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

ประเด็นที่ 3 : เหงื่อออกที่มือ-เท้าบ่อยๆ สัญญาณบอกหัวใจทำงานหนัก เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

ข้อเท็จจริง : การหลั่งเหงื่อของร่างกายในสภาวะปกติจะถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ แต่พบโรคหรือภาวะที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ มักร่วมกับอาการใจสั่น น้ำหนักลด ท้องเสีย เป็นต้น โรคเบาหวาน เวลามีอาการของน้ำตาลต่ำ จะมีอาการเหงื่อแตก ใจสั่น ภาวะวัยหมดประจำเดือน (menopause) โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น จากหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่พบความผิดปกติของหัวใจที่ทำให้เหงื่อออกที่มือ หรือเท้าบ่อยๆ ดังนั้น การที่มีเหงื่อออกมากที่มือและเท้า จึงไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับภาวะหัวใจทำงานหนักแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 4 : กินวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

ข้อเท็จจริง : บุคคลทั่วไปที่ไม่มีภาวะขาดวิตามินบี การกินวิตามินบีเสริมไม่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ การกินอาหารให้สมดุลครบ 5 หมู่ ร่างกายจะได้รับวิตามินบีอย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกินวิตามินเสริม

ทั้งนี้ โรคหัวใจ สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอารมณ์ ลดความเครียด ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *