วันเข้าพรรษาเพิ่งผ่านพ้นไปได้ไม่นาน พุทธศาสนิกชนหลายคนอาจถือเอาช่วงเข้าพรรษานี้ ทำบุญ รักษาศีล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ รวมถึงทำบุญใส่บาตรแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในวัด เพื่อสุขภาพที่ดีของพระและเหล่าญาติโยมที่รับอาหารเหลือไปรับประทานต่อ จึงควรใส่ใจในการเลือกอาหารใส่บาตรนะคะ
การทำบุญตักบาตรเป็นกิจกรรมหนึ่งที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ แต่เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบหรือข้อจำกัดในเรื่องเวลา หลายคนมักเลือกอาหารสำเร็จรูปที่หาง่ายตามท้องตลาดเพื่อใส่บาตร พระสงฆ์จำนวนมากจึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน และนำไปสู่โรคร้ายแรงในอนาคต เช่น โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ เบาหวาน ไขมันและความดันโลหิตสูง
ไม่อยากทำร้ายสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ทางอ้อม ก่อนใส่บาตรแนะนำให้เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อย่างน้อย 4 หมู่ ได้แก่…
- ข้าวกล้อง
- เนื้อสัตว์ไขมันต่ำเพื่อลดพลังงานส่วนเกินไปสะสมในร่างกาย
- ผักต่างๆ ที่มีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย
- ผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน อาทิ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ส้ม แอปเปิ้ล และมะละกอ
ในการประกอบอาหารควรใช้วิธีต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ หรือน้ำพริก หากจำเป็นต้องผัดหรือใช้กะทิควรใช้ในปริมาณน้อย รสชาติอาหารต้องไม่หวานจัด มันจัดและเค็มจัด ลดขนมหวานเพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง และควรเลือกนมจืด นมพร่องมันเนยน้ำสมุนไพรสูตรหวานน้อย หรือน้ำเปล่า
นอกจากนี้ กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนนิยมปฏิบัติคือการถวายสังฆทาน ปัญหาคือ มีผู้จัดทำชุดสังฆทานสำเร็จรูปบางราย นำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใส่ไว้รวมกัน ทั้งที่เป็นอาหาร ยา รวมกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนสารอันตรายและมีกลิ่นเข้าไปในผลิตภัณฑ์อาหารได้
ดังนั้น ในการซื้อถังสังฆทาน ควรสังเกตผลิตภัณฑ์ที่ใส่ในถัง ต้องไม่นำผลิตภัณฑ์อาหาร ยา มาใส่รวมกับผลิตภัณฑ์อื่น, สังเกตภาชนะหีบห่อที่บรรจุต้องเรียบร้อยไม่ฉีกขาด และความสะอาด, สังเกตฉลากควรแสดงข้อความรายละเอียดครบถ้วน เช่น เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ ส่วนประกอบ เป็นต้น
ที่สำคัญควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีวันหมดอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน สำหรับอาหารกระป๋อง ควรดูลักษณะกระป๋อง ต้องไม่เป็นสนิม ไม่บุบบี้หรือโป่งพอง หรือมีรอยรั่ว รอยต่อต้องเรียบร้อยและแน่นหนา