“หมูหยอง” เป็นการแปรรูปเนื้อสัตว์ซึ่งจะทำให้รสชาติดีและสามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น ท่ามกลางความมักง่ายของผู้ผลิตจำนวนมากอาหารบางชนิด จึงมีการผลิตของปลอมขึ้นเพื่อลดต้นทุน ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคบางคนเกิดความสงสัยว่า “หมูหยอง” ที่ตนรับประทานเป็นของปลอมทำจากสำลี!
ตามที่มีคลิปเผยแพร่ทางโลกโซเชียลมีเดีย โดยชายคนหนึ่งสงสัยว่าแซนวิชไส้หมูหยองยี่ห้อหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อนำหมูหยองไปละลายน้ำแล้วคล้ายกับฝ้าย จึงสรุปว่าเป็นหมูหยองปลอมที่ทำมาจากสำลีซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคตื่นตระหนกนั้น
ข้อมูลจาก นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า…
จากการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่าหมูหยองทำมาจากเนื้อหมู มีการตรวจด้านกายภาพและด้านชีวโมเลกุล ด้านกายภาพจะตรวจโดยการดูลักษณะของเส้นใยด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายประมาณ 30 เท่า ด้านชีวโมเลกุลจะตรวจดีเอ็นเอเนื้อสัตว์นั้น
จากผลการตรวจวิเคราะห์หมูหยอง-ไก่หยอง ในปี 2559-2560 พบว่า ด้านกายภาพ ตรวจไม่พบเส้นใยของสำลี ในทุกตัวอย่าง ด้านชีวโมเลกุล ตัวอย่างหมูหยอง พบว่า มีทั้งพบเฉพาะดีเอ็นเอหมูอย่างเดียว และพบทั้งดีเอ็นเอหมูและไก่ผสมกัน ส่วนอาหารที่ระบุบนฉลากว่าเป็น “ไก่หยอง” จากการตรวจวิเคราะห์พบแต่ดีเอ็นเอของไก่เท่านั้น
สำหรับข่าวที่ว่าเมื่อนำหมูหยองไปล้างน้ำแล้วมีสีละลายออกมาเนื้อหมูมีสีซีดลงนั้น สาเหตุมาจากสีน้ำตาลของหมูหยองที่เกิดขึ้นจากคาราเมลของน้ำตาลสีของซอสและเครื่องปรุงรสต่างๆ ที่เอามาผสมกันเมื่อนำไปล้างน้ำจึงสามารถละลายออกมาได้ เนื้อหมูจึงซีดลงเหลือแต่เส้นใยของกล้ามเนื้อหมู
ทั้งนี้ หมูหยองที่จำหน่ายตรวจไม่พบเส้นใยของสำลี แต่พบว่าทำมาจากเนื้อหมูล้วนๆ หรือผสมเนื้อไก่ ดังนั้น สามารถบริโภคได้ตามปกติ ในส่วนผู้ประกอบการควรระบุฉลากอาหารให้ตรงกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งอาหารดังกล่าวแม้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค และอาหารดังกล่าวเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม ตามมาตรา 27 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 (ฉบับปรับปรุง ปี 2559)
ข้อสังเกตในการเลือกซื้อ หมูหยองจะมีลักษณะเป็นเส้นใยขนาดแตกต่างกัน ไก่หยองจะเป็นเส้นสั้นๆ ส่วนปลาหยองจะเป็นผงหยาบๆ ทั้งนี้ควรเลือกที่ไม่มีกลิ่นหืน ไม่มีเศษวัสดุอื่นเจือปนอยู่ และมี อย.กำกับค่ะ