“ยาอมผสมยาต้านแบคทีเรีย” ใช้ไม่ได้ผลแถมกินแล้วดื้อยา

0

ระวังให้ดีอย่าซื้อยากินเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง โดยเฉพาะยาต้านแบคทีเรียบางรายการ นอกจากจะใช้ไม่ได้ผลแล้วยังเสี่ยงส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ และเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยา เสียชีวิตจากการดื้อยา ตัวอย่างยาประเภทที่เราควรหลีกเลี่ยงก็คือ “ยาอม-ยาแก้ท้องเสีย และยาสูตรผสม” ซึ่งมีส่วนผสมของยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น

ในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมหรือเกินความจำเป็น

อีกทั้งยังมียาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมวางขายตามท้องตลาดไล่มาตั้งแต่ยาอมที่ไม่ควรมีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะร้อยละ 80 ของอาการเจ็บคอไม่ได้เกิดจากเชื้อดังกล่าวและอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในลำไส้ หรือยาแก้ท้องเสียที่เกิดจากเชื้อไวรัส รวมถึงอันตรายจากสูตรผสมของยาต้านแบคทีเรียในยาประเภทต่างๆ

pain

ตัวอย่างยาที่สมควรดำเนินการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาก่อนเป็นอันดับแรก คือ ยาอมที่มีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ (ยาต้านแบคทีเรีย) โดยเฉพาะสูตรยาที่มีนีโอมัยซิน (Neomycin) เพราะยาปฏิชีวนะนีโอมัยซินไม่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเจ็บคอ แต่ออกฤทธิ์ได้ต่อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เมื่อกลืนยาลงไปจะชักนำให้เกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีชื่อว่าอะมิโนกลัยโคไซด์ (Aminoglycoside) ทั้งกลุ่ม ซึ่งยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้เป็นยาที่ใช้ช่วยชีวิตคนที่ติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด

ฉะนั้นเมื่อเริ่มมีอาการที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ เช่น มีไข้ หรือท้องเสีย ควรให้การรักษาประคับประคองตามอาการอย่างเหมาะสม ไม่ควรให้ยาบรรเทาอาการในช่วงที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียมารับประทานเอง เพราะอาจเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยารุนแรงจนรักษาไม่ได้ในอนาคตทั้งนี้สามารถตรวจสอบบัญชียายอดแย่ที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคเรียได้ที่ Thaidrugwatch.org หรือ Thaihealth.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *