หลายคนรู้จัก “ฟอร์มาลิน” ในบทบาทของน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือน้ำยาดองศพแต่ก็ยังมีการนำฟอร์มาลินไปใช้ในทางที่ผิดคือ ผสมในอาหาร โดยเข้าใจว่าช่วยทำให้อาหารคงความสด ไม่เน่าเสียได้ง่ายและเก็บรักษาได้นานซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย เช่น ผักสดชนิดต่าง ๆ อาหารทะเลสดและเนื้อสัตว์เป็นต้น
แต่รู้หรือไม่ว่าผลข้างเคียงจาก “ฟอร์มาลิน” อันตรายถึงขั้นชีวิตเชียวล่ะ!
“สารละลายฟอร์มาลดีไฮด์” หรือเรียกทั่วไปว่า “ฟอร์มาลิน” เป็นสารละลายที่ประกอบด้วยแก๊ส ฟอร์มาลดีไฮด์ประมาณร้อยละ 37 โดยน้ำหนักในน้ำ และมี เมทานอล ปนอยู่ด้วยประมาณร้อยละ10-15 เพื่อป้องกันการเกิดโพลิเมอร์ลักษณะทั่วไปของฟอร์มาลินเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว
การบริโภค “ฟอร์มาลิน” โดยตรง จะเกิดอาการเป็นพิษโดยเฉียบพลัน ซึ่งอาการมีตั้งแต่ปวดท้องรุนแรงอาเจียน อุจจาระร่วง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
ถ้าบริโภคประมาณ 60-90 ลบ.ซม. จะเป็นผลให้การทำงานของตับไต หัวใจ และสมองเสื่อมลง ปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรงที่ปากและคอ ฟอร์มาลินที่มีความเข้มข้นของฟอร์มาลดีไฮด์ระหว่าง 150-5,000 มก./กก. เมื่อสัมผัสจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง หรือถ้าบริโภคอาหารที่มีปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์อยู่ในระดับนี้บางคนจะเกิดอาการระคายเคืองปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอ ผู้ที่มีความไวต่อสารนี้จะแสดงอาการปวดศีรษะ หายใจติดขัดแน่นหน้าอก
การสัมผัสกับสารละลายฟอร์มาลีนที่มีความเข้มข้นร้อยละ 2-10 เป็นเวลานานจะทำให้ผิวหนังอักเสบ พอง และเป็นตุ่มคัน กรณีสูดดมหรือสัมผัสก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ที่ระดับประมาณ 2-3 มก./กก.จะทำให้เกิดระคายเคืองที่ตา จมูก และคอ และที่ระดับประมาณ 10-20 มก./กก. จะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรงที่ปากและคอ พร้อมกับมีอาการไอ
ผู้บริโภคที่สงสัยว่าอาหารที่บริโภคนั้นมีฟอร์มาลีน ไม่ควรซื้อมารับประทานเนื่องจากฟอร์มาลินเป็นสารที่มีกลิ่นฉุนมาก หากนำไปใช้ในอาหาร เช่น ผักสดต่างๆ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ผู้บริโภคจะได้กลิ่นฉุนแน่นอน ก่อนประกอบอาหารควรล้างให้สะอาดเสียก่อน เพื่อความมั่นใจและรับประทานอาหารได้อย่างปลอดภัย