ยังคงมีประเด็นให้ได้ยินได้ฟังกับเรื่อยๆ เกี่ยวกับผลกระทบจาก “ครีมปรอท” ล่าสุดเป็นกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้มีการโพสต์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “ครีมปรอท” ช่วยผิวขาว โดยติดฉลากชัดเจน ทั้งที่การผสมสารปรอทลงในเครื่องสำอางเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ว่าแล้วมาย้ำอีกครั้งถึงอันตรายจากครีมประเภทนี้กันค่ะ
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า หากมีการติดฉลากบนตัวผลิตภัณฑ์ชัดเจนถือว่าผิด พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 เนื่องจากสารปรอทเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง หากตรวจพบถือว่าเป็นเครื่องสำอางไม่ปลอดภัยในการใช้
หากผู้ขายผู้ผลิตผู้นำเข้าละเมิด ย่อมมีความผิดทั้งหมด โดยหากพบว่ามีการละเมิดและผลิตหรือนำเข้ามาจะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้จำหน่ายหรือผู้ขายจะมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ปัจจุบัน อย.ได้สั่งห้ามผลิตเครื่องสำอางผสมสารต้องห้าม มีสารปรอท และไฮโดรควิโนน ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณช่วยให้ขาว แต่ก่ออันตรายร้ายแรง
สารปรอทที่ใช้ในครีมปรอทอยู่ในรูปของไดวาเลนซ์แคทไอออน จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเมลานินลดลง จึงช่วยให้สีผิวขาวขึ้น นอกจากนี้ปรอทยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิด staphylococcus จึงป้องกันสิวได้ด้วย
ผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องสำอางที่มีสารปรอทสารประกอบของปรอททำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ เกิดฝ้าถาวร ผิวบางลง และเมื่อใช้ติดต่อกัน เป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแส โลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ อีกทั้งในสตรีมีครรภ์ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และไปสู่ทารก ทำให้เด็กมีสมองพิการและปัญญาอ่อน
ฉะนั้น ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสถานที่จำหน่ายที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และก่อนตัดสินใจซื้อควรสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ โดยฉลากต้องมีข้อความภาษาไทย ระบุข้อความอันจำเป็นครบถ้วน อย่าเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง หน้าขาวใสไม่กี่วัน หลังจากนั้นกลับต้องหน้าพังจนใช้เวลารักษายาวนาน
ทั้งนี้ หลังใช้ครีมหรือเครื่องสำอางต่างๆ หากมีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้และไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและหาวิธีรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุด