ดูแลจิตใจรับมือภาวะโศกเศร้ารุนแรงช่วงพระราชพิธี

0

เรียกว่าเป็นภาวะที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมากในเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ อาจกระตุ้นประสบการณ์ความสูญเสียและความเครียดในอดีต ทำให้เกิดภาวะสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้ เช่น การร้องไห้ คร่ำครวญ กรีดร้อง หรือมีภาวะหายใจเร็ว เกิดอาการมือจีบ ตัวเกร็ง เป็นลม

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า…

ในช่วงพระราชพิธีกราบพระบรมศพ 3 เดือนแรก พบประชาชนเกิดปฏิกิริยาโศกเศร้าจากการสูญเสีย 687 ราย มีภาวะหายใจ 182 ราย อย่างไรก็ตาม ช่วงสิงหาคม-กันยายน 2560 การเกิดภาวะหายใจเร็ว เป็นลม พบเพียงจำนวนน้อย ราว 4-5 ราย

โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่มีความผูกพันสูง กลุ่มที่มีความเครียดจากปัญหาต่างๆ และในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชและผู้ที่มีประวัติซึมเศร้าและพยายามฆ่าตัวตาย อาจมีอาการกำเริบได้จากความรู้สึกสูญเสีย

take-care-of-the-heartache-during-the-ceremony

กลุ่มที่มีภาวะเครียดง่าย

หรือมีภาวะซึมเศร้า หรือมีประวัติทำร้ายตนเอง ญาติและผู้ใกล้ชิดควรให้การดูแล หากพบมีลักษณะท่าทางที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สามารถรับบริการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

ส่วนกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช

หากมาร่วมพระราชพิธีไม่ควรหยุดรับประทานยาและควรมีญาติมาด้วย เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วย แต่หากพบไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เอะอะ โวยวาย หรือเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ได้เตรียมหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไว้แล้ว

สำหรับแนวทางการดูแลจิตใจช่วยเหลือกันและกัน

แนะให้ยึดหลักปฐมพยาบาลทางใจ 3 ส. ได้แก่…

  1. สอดส่องมองหา (Look) โดยค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น ผู้ที่แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง
  2. ใส่ใจรับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ รวมทั้งใช้ภาษากาย เช่น จับมือโอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจ
  3. ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) โดยให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นพื้นฐาน เช่น น้ำ อาหาร ยา หากไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โศกเศร้ารุนแรง คิดฆ่าตัวตาย ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตก่อนที่จะส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อีกหนึ่งวิธีในการแปลงความโศกเศร้าเป็นพลังทำความดี คือ การนำพระบรมราโชวาท หรือพระราชดำรัส มาเป็นหลักธรรมในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งกับตนเองและประเทศชาติค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *