คนกรุงมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง แนะ “หยุดมองจอ-ขยับมากขึ้น” เพื่อสุขภาพ

0

พฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ กิจกรรมที่แทบไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ได้แก่ การนั่ง และการนอน (ไม่นับรวมการนอนหลับ) พฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน โดยทำให้กระบวนการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลเป็นพลังงานลดลง น้ำหนักตัวจึงอาจเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ

กรมอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ศึกษาวิจัย เรื่อง รูปแบบและความสัมพันธ์ของการมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง (การนั่งนาน) ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,137 คน พบว่า คนกรุงเทพมหานครมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 83 แต่ยังพบมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ร้อยละ 79

นั่นหมายถึง แม้จะออกกำลังกายเป็นประจำ หากในวิถีชีวิตประจำวันไม่ขยับหรือนั่งนาน ก็ยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และพฤติกรรมดังกล่าวยังมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าจำนวนประชาชนทั้งประเทศ ในทางกลับกัน การมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพื่อสุขภาพที่ดี คือ กิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งต่ำ ของคนกรุงเทพมหานคร มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น

ทั้งนี้ สาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความเร่งรีบในวิถีชีวิต การนั่งทำงานประจำ และการใช้อุปกรณ์จอ ทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ แทบเล็บ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงเป็นประจำส่งจะผลเสียต่อสุขภาพประชาชน อาทิ การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น รวมทั้งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ข้อแนะนำเพื่อสุขภาพที่ดี มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

1. ขยับร่างกายระดับปานกลางถึงหนัก อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรืออย่างน้อยวันละ 30 นาที

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนอาจค่อย ๆ เริ่มจากการลุกขึ้นยืนสลับกับการนั่งในระหว่างวัน หรือเดินไปมา ยืดเหยียดร่างกาย ในช่วงพักระหว่างทำงาน หรืออาจเคลื่อนไหวร่างกายเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน

3. นั่งให้น้อยที่สุดในแต่ละวันเท่าที่สามารถทำได้ หรือหากต้องนั่งทำงานหน้าจอเป็นหลัก ให้หยุดพักเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถทุก 30 นาที รวมถึงขยับยืดเส้นยืดสาย เพื่อป้องกันการเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม โดยอาจใช้โปรแกรมเตือนเมื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน

4. ลุกขึ้นยืนหรือเดินขณะคุยโทรศัพท์

ประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายและการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

1. สร้างเสริมความแข็งแรงของระบบการไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ กล้ามเนื้อ กระดูก รวมถึงความยืดหยุ่นของร่างกาย   2. ลดโอกาสการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ  

3. มีความกระตือรือร้น เพิ่มศักยภาพในการทำงาน ลดความเครียดและภาวะซึมเศร้า  

4. ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาล

5. ช่วยลดอัตราการเสี่ยงต่อการหกล้มและช่วยเสริมสร้างความจำ เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรงและมีคุณค่า

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ผู้ใหญ่อายุระหว่าง 18-64 ปี ออกกำลังกายที่ระดับความหนักปานกลางเฉลี่ยสัปดาห์ละ 150 นาที ควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และงดการสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *