ลดความเสี่ยง “โรคหัวใจ” ได้ ด้วยการออกกำลังกาย

0

ปัจจุบันคนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารมีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ก็ยังจะทำให้หัวใจของเราแข็งแรงอีกด้วย

 

เราทราบกันดีว่าการออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่ากิจกรรมนี้ดีต่อหัวใจด้วย โดยการออกกำลังกาย จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจ ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง และยังลดความถี่ของการเจ็บหน้าอกของผู้ป่วยโรคหัวใจลงอีกด้วย

 

53

 

หลักการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหัวใจ คือออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัยของตนเอง โดยใช้ความแรงพอที่จะกระตุ้นการพัฒนาร่างกาย และหัวใจโดยไม่เสี่ยงอันตราย ควรทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน นอกจากจะมีผลดีต่อหัวใจแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุภาพโดยรวมอีกด้วย สำหรับการออกกำลังกายในครั้งแรก ๆ ไม่ควรหักโหมมาก การออกกำลังกายที่ดี ควรเป็นการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำเป็นครั้งคราวแต่หักโหม

 

การออกกำลังกายที่จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงหัวใจ คือการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดิน เป็นต้น ความหนักของการออกกำลังกาย คือ 55-90 % ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดในแต่ละช่วงอายุ โดยเริ่มจับชีพจรปกติ แล้วบวกเพิ่ม 20-30 ครั้ง/นาที ใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง 20-60 นาทีต่อวัน ความถี่อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์

 

ถ้าออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจต่าง ๆ ลดความอ้วน ช่วยปรับปรุงรูปร่างให้กระชับและดูดีขึน เพิ่มความรู้สึกของการมีสุขภาพที่ดี ช่วยให้หลับสบายขึ้น เพิ่มหรือคงระดับความแข็งแรง ทนทาน และเพิ่มระดับการใช้พลังงานของร่างกาย  เพิ่มความกระฉับกระเฉงและยังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะออกกำลังกาย ควรสังเกตอาการของตัวเองขณะออกกำลังกายด้วย และต้องหยุดการออกกำลังกายทันที หากมีอาการดังนี้

  • เจ็บหน้าอก เจ็บหัวใจเหมือนถูกกดทับ หนัก ๆ แน่น ๆ และเจ็บอยู่ภายใต้หน้าอก อาการมักแย่ลงเมื่อออกแรง และดีขึ้นเมื่อได้พัก อาจเจ็บร้าวไปที่ไหล่ แขน ลำคอ ขากรรไกร หรือหลังได้
  • รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ
  • หัวใจเต้นเร็วมากจนมือเท้าเย็น
  • หายใจขัด หรือหายใจไม่ทั่ว
  • เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หน้ามืด เสียการทรงตัว

 

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกวิธีออกกำลังกาย เพื่อความปลอดภัย

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *