ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญ การมีดวงตาและสายตาที่ปกติ ย่อมทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างราบรื่น มีชีวิตที่เป็นสุข อย่างไรก็ตามพบว่า โรคตาหลายชนิดมักเกิดจากโรคซึ่งรักษาได้หากมารับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น การตรวจตาจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้ยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ
คนทั่วไป มักละเลยการตรวจสุขภาพตา แต่จะให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพร่างกายมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ “ตา” เป็นส่วนที่สัมพันธ์กับภายนอก ได้รับการถูกกระทบได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการจ้องหน้าคอมพิวเตอร์ มือถือ อ่านหนังสือ เผชิญทั้งแสงแดด ฝุ่น สารเคมี ฯลฯ การตรวจเช็คสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยค้นหาโรคทางตาที่พบได้บ่อย โรคทางตาในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาสาเหตุที่อาจนำไปสู่การสูญเสียสายตาทั้งชั่วคราวและถาวรได้
ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพตา ได้แก่ การตรวจพบปัญหาทางสายตา เมื่อได้รับการแก้ไข จะทำให้การมองเห็นดีขึ้น,
การตรวจพบโรคทางตาในระยะเริ่มแรกจะมีแนวโน้มการรักษาให้หายได้ง่ายขึ้น, การตรวจตาช่วยให้พบโรคทางกายได้ (เช่น การตรวจพบวงขาว ๆ เป็นขอบรอบตาดำ อาจบ่งถึงภาวะไขมันในเลือดสูง, การตรวจพบตาขาวมีสีเหลือง จะบ่งถึงการทำงานของตับที่ผิดปกติ), ความผิดปกติของสมองบางอย่างสามารถตรวจดูที่ขั้วประสาทตาโดยตรงจากการตรวจตาได้
สำหรับกลุ่มคนปกติควรเข้าตัวดวงตา ตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กแรกเกิดถึง 5 ปี ควรได้รับการตรวจดวงตา สายตา ภาวะตาเข และป้องกันภาวะตาขี้เกียจ หากตรวจพบการรักษาจะได้ผลดี
- ช่วงอายุ 6 – 20 ปี เป็นช่วงวัยเรียนชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย มักมีภาวะสายตาผิดปกติอาจสายตาสั้น ยาว หรือเอียง ซึ่งควรได้รับการแก้ไข
- ช่วงอายุ 20 – 29 ปี เป็นวัยเรียนต่อกับวัยทำงาน อาจไม่พบโรคตามากนักนอกจากมีอาชีพที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
- ช่วงอายุ 30 – 39 ปี เป็นวัยสายตาเริ่มเปลี่ยนแปลงควรได้รับการตรวจสัก 2 ครั้ง
- ช่วงอายุ 40 – 65 ปี เป็นวัยเริ่มเข้าสู่ผู้สูงอายุ อาจพบโรคตาได้ควรได้รับการตรวจ 1-2 ปีต่อครั้ง
- ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มักมีโรคตาที่เสื่อมตามวัยควรตรวจตาปีละครั้ง
สำหรับผู้มีอาการผิดปกติทางตา ควรไปพบจักษุแพทย์ทันทีที่มีอาการ ทั้งนี้ กลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรตรวจตาอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำ ได้แก่
- เด็กเกิดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม หรืออายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์
- ผู้มีปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหิน เช่น สายตาสั้นมาก มีประวัติต้อหินในครอบครัว เคยได้รับการผ่าตัดตามาก่อน
- ผู้เป็นเบาหวาน
- ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อจอตาฉีกขาดและหลุดลอก ได้แก่ เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา สายตาสั้นมาก มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว
- ผู้มีโรคทางกายที่ต้องใช้ยาบางตัวต่อเนื่อง เช่น ยารักษาวัณโรค ยารักษาโรคข้อ เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรหมั่นเช็คสภาพดวงตาของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติ อาทิ ตามัว ตาแดง ปวดตา มองภาพไม่ชัด มองภาพผิดปกติ มีก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อบริเวณดวงตา ฯลฯ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์