ทำอย่างไรเมื่อ “บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา”

0

เป็นที่ทราบกันดีว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอนั้น สามารถช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงได้ หลายคนเลือกที่จะดูแลสุขภาพโดยการเล่นกีฬา อย่างไรก็ตาม หากเล่นกีฬาอย่างไม่ถูกวิธี เกินขีดจำกัดของร่างกาย ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้เล่น หรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น อาจทำให้เกิดการการบาดเจ็บได้

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

1. อุบัติเหตุระหว่างการเล่น ทั้งเกิดจากการปะทะ และไม่มีการปะทะ

2. การใช้งาน หรือการบาดเจ็บเล็กน้อยของส่วนเดิมซ้ำ ๆ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ปวด บวม ฟกช้ำ ขยับหรือลงน้ำหนักไม่ได้

ความรุนแรงของการบาดเจ็บสามารถแบ่งได้หลายระดับ ดังนี้

1. การบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น การมีแผลถลอก ผิวหนังฉีกขาด มีอาการตะคริว และมีการยืดของเอ็นยึดข้อมากเกินไป

2. การบาดเจ็บรุนแรงปานกลาง เช่น เอ็นยึดข้อมีการฉีกขาดบางส่วน ส่วนที่ได้รับบาดเจ็บบวม และมีอาการปวด มีอาการบาดเจ็บเมื่อเคลื่อนไหวอวัยวะดังกล่าว รวมทั้งการเคลื่อนไหวทำได้น้อยลง

3. การบาดเจ็บรุนแรงมาก เช่น มีกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน มีการเสียรูปของอวัยวะและมีอาการปวดอย่างมาก

4. การบาดเจ็บที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น มีการบาดเจ็บที่รุนแรงต่อบริเวณลำคอหรือศีรษะ มีอาการหมดสติ มีอาการแสดงความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬานั้นมีความรุนแรงแตกต่างกันตามขนาดของกำลัง อัตราความเร็ว ความแข็ง ความอ่อน ความทื่อ หรือคมของสิ่งของที่มากระทบ ทำให้อวัยวะและเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บซึ่งเป็นอันตรายต่อนักกีฬา อาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที

เมื่อมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น ผู้เล่นกีฬาควรทราบหลักการรักษาเบื้องต้น เพื่อลดอาการปวด บวม และป้องการการบาดเจ็บเพิ่มเติมที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาที่ไม่ถูกวิธี สำหรับการรักษาเบื้องต้น มีหลักการดังนี้

P – Protection ป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติม เช่น การหลีกเลี่ยงการขยับหรือลงน้ำหนักส่วนที่บาดเจ็บ โดยอาจใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ไม้ดาม เฝือก หรือไม้ค้ำยัน เป็นต้น 

R – Rest หยุดพัก ลดการใช้งาน ขยับ หรือลงน้ำหนักบริเวณส่วนที่บาดเจ็บ ควรหยุดการเล่นกีฬา โดยเฉพาะในช่วง 6 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญควรมีการได้พักการใช้งาน

I – Ice ประคบเย็นส่วนที่บาดเจ็บด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็น ครั้งละ 15-20 นาที ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดการมีเลือดออกบริเวณเนื้อเยื่อ ลดอาการปวดและบวม

C – Compression พันผ้ายืด (Elastic bandage) บริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อช่วยลดอาการบวม

E – Elevation ยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหน้าอก เพื่อช่วยลดอาการบวม โดยเฉพาะช่วง 2 วันแรก ทั้งนี้ หากอาการปวด บวม ฟกช้ำ ไม่ดีขึ้น หรือแนวโน้มแย่ลง หรืออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรง สงสัยภาวะกระดูกหัก ข้อต่อเคลื่อนหลุด แนะนำปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *