เคยเห็นใครที่ชอบเก็บสะสมของเยอะเกินไปไหม หรือว่าตัวเองกำลังเป็นอยู่ ประเภทเก็บทุกอย่างไม่คิดจะทิ้งเลย รู้ไหมอาการแบบนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเสี่ยงเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่เรียกว่า…
โรคเก็บสะสมของ
โรคเก็บสะสมของ ( Hoarding Disorder)
เป็นโรคจิตประเภทหนึ่งที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวทเมื่อปี 2556 นี้เอง ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศ โรคเก็บสะสมของ จะพบได้บ่อยราว 2-5% ในกลุ่มของคนปกติทั่วไป แถมส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคนโสดซะด้วย โดยอาจเริ่มมีอาการมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น จนเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคน
อาการเหล่านี้นั้นสามารถถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมได้ หรือบางรายก็เป็นกลไกทางจิตที่ชดเชยจากการวิตกกังวล เก็บของไว้เยอะๆ แล้วรู้สึกอุ่นใจ
>> อาการของโรคเก็บสะสมของ
ชอบเก็บของเอาไว้มากมาย ที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้เก็บหมด ประมาณว่าตัดใจทิ้งของชิ้นใดชิ้นหนึ่งที่เก็บเอาไว้ไม่ได้ ทำใจลำบาก ซึ่งมักมีเหตุผลว่า “เดี๋ยวก็ได้ใช้” หรือ “อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องใช้ขึ้นมาในอนาคต” แต่ทำไปทำมาก็ไม่เคยใช้สักที เช่น นิตยสาร เสื้อผ้า ถุงพลาสติก กล่อง ขวดต่างๆ ฯลฯ เป็นต้น
>> ความแตกต่างระหว่างคนที่เป็นโรคกับคนปกติ
ผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของ จะเก็บของเอาไว้มากจนส่งผลกระทบทางลบกับตัวเอง เช่น เก็บจนไม่มีที่เดินในบ้าน หรือเก็บจนฝุ่นเต็มบ้าน ส่วนคนปกติจะเก็บที่ตัวเองชอบและสามารถใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น
>> วิธีรักษาได้หรือเปล่า?
แพทย์อาจพิจารณาความหนักเบาของอาการ จากนั้นอาจจะจึงค่อยพิจารณาวิธีการรักษาโดยใช้ยาที่อยู่ในกลุ่มของยาต้านอาการซึมเศร้า และรวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยสอนให้ตัดใจทิ้งของที่ไม่จำเป็นไปบ้าง และ จัดกลุ่มของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หยิบใช้ได้ง่าย
เรื่องที่น่าตกใจคือ ผู้ป่วยหลายรายที่ทำการรักษาแล้วแต่ก็กลับไปมีอาการใหม่ ดังนั้น คนที่อยู่ข้างกายผู้ป่วยจึงอาจต้องคอยกระตุ้น คอยฝึกให้ผู้ป่วยแยกแยะสิ่งของจำเป็น หรือไม่จำเป็นให้ชัดเจนอย่าปล่อยให้บ้านกลับมารกเหมือนเดิม