“ดอกไม้ ประตูแจกัน ดินทรายต้นไม้ใหญ่ แก้วน้ำจานชามใดๆ โคมไฟที่สวยงาม…”
มาตามสเต็ปท์เดิมพร้อมกับเสียงเพลงของพี่ปั่น เกริ่นเข้าเรื่องด้วยเพลงนี้นี่เพื่อนๆ หลายคนอาจจะงงได้ว่าวันนี้เฮียจะเอาความรู้คู่สุขภาพเรื่องไหนมาบอกเล่ากันแน่??? เฉลยเลยแล้วกันนะครับ วันนี้จะเป็นเรื่องของเคล็ดลับการเลือกหม้อให้เหมาะกับการใช้งานและเมนูที่ทำ พร้อมแล้วก็เริ่มกันเล้ย!!!
หม้อแก้ว
ทำจากแก้วจึงมีความใส ใช้เวลาสาธิตการทำอาหาร เพราะสามารถเห็นส่วนผสมและสีสันของอาหารได้ชัดเจน สามารถใช้กับเตาได้เกือบทุกชนิด เช่น เตาไฟฟ้า เตาแก๊ส เตาไมโครเวฟ
หม้ออะลูมิเนียม
คนยังนิยมใช้กันอยู่มาก แต่มีข้อควรระวังคือ อย่าใช้ใส่อาหารที่มีรสเปรี้ยว เพราะอะลูมิเนียมจะทำปฏิกิริยากับกรด ทำให้เกิดเป็นคราบดำ ขัดไม่ออก ฉะนั้นจึงไม่ควรใช้หม้อชนิดนี้ทำแกงส้มหรือต้มยำ
หม้อสเตนเลส
เนื้อหาและหนักกว่าหม้ออะลูมิเนียม จึงทำให้ความร้อนกระจายตัวได้ดี ช่วยไม่ให้ก้นหม้อไหม้ ใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด ทั้งผัด ต้ม แกง และเวลาทำจับฉ่าย โดยทั่วไปแล้วใช้หม้อสเตนเลสผัดส่วนผสมทั้งหมดก่อน แล้วใส่น้ำเคี่ยวต่อจนผักเปื่อยในหม้อใบเดิม
หม้อเคลือบ
เป็นหม้ออเนกประสงค์ที่ใช้แล้วสบายใจ เพราะทำอาหารได้หลายอย่าง ทั้งทอด แกงส้ม ต้มยำ เนื่องจากกรดไม่ทำปฏิกิริยากับเคลือบผิวหม้อ แถมอาหารยังไม่ติดก้นหม้อและทำความสะอาดง่าย นอกจากนี้ยังช่วยให้สบายตา เพราะผิวเคลือบด้านในเป็นสีขาว จึงเห็นสีสันของอาหารชัดเจน ส่วนเคลือบผิวด้านนอก ปัจจุบันมีสารพัดสีให้เลือก ต่างจากสมัยก่อนที่มีเพียงสีเดียวคือน้ำเงิน
หม้อเซรามิก
ใช้ยากสักหน่อย เพราะน้ำหนักมาก เกิดรอยขีดข่วนและแตกง่าย เหมาะสำหรับทำอาหารประเภทต้มหรือตุ๋น
หม้อเหล็ก
แข็งแรงทนทานและมีน้ำหนักมาก ควรเลือกชนิดที่มีหูจับสองข้าง ยิ่งทำด้วยไม้จะดีมาก เพราะทำให้หยิบยกได้สะดวก เหมาะสำหรับทำอาหารประเภทอบ ใช้กับเตาได้ทุกชนิด ก่อนเก็บควรเช็ดด้วยน้ำมันบางๆ เพื่อกันสนิม
หม้อดิน
ไม่ทนความร้อนต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง นิยมใช้ตุ๋นยาจีน ต้มยาไทย หรือเป็นภาชนะใส่ขนมไทย ส่วนฝาหม้อใช้สำหรับบดหรือฝนยา
ไม่ว่าจะเลือกใช้หม้อชนิดใด แนะนำว่าควรใช้คู่กับทัพพีไม้เป็นหลัก หรืออาจใช้ทัพพีซิลิโคน แต่อย่างหลังต้องระวังอย่าเผลอวางคาหม้อไว้ เพราะละลายได้