ชั่วโมงการบินศูนย์! 6 สุขภาพแย่แย่ ที่ต้องทน…เมื่อนั่งเครื่องบิน

0

flight-wide

“ไปไหนไม่สำคัญ! สำคัญที่ว่า…ไปกับใคร”

คำพูดสั้นๆจากมิตรสหายท่านหนึ่ง ทำเอาผมตาลุกโพลง เพราะอดเห็นด้วยไม่ได้…กับประโยคอันคมคายนี้ แน่นอนว่าสิ่งสำคัญอยู่ตรงผู้ที่เราร่วมทางด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ พี่น้อง คนรู้ใจ คู่ชีวิต มิตรสหาย หรือแม้แต่ตัวเราเอง ก็ล้วนแต่เป็นตัวกำหนดสีสันและรสชาติของการเดินทางครั้งนั้นทั้งสิ้น ทว่า, ผู้ร่วมทางอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยในการนั่งเครื่องบินนั่นก็คือ…ปัญหาสุขภาพแย่ๆที่คอยปั่นป่วน-กวนจิตกวนใจ เรานั่นเอง

หลายคนอาจมีอาการแปลกๆ รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว หรือถึงขั้นต้องกินยากำราบสารพัดอาการที่เกิดขึ้นในเวลาที่นั่งเครื่องบิน ซึ่งอาการเหล่านั้นก็อาจจะไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อร่างกายของเรา ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น บทความนี้เราขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาการเหล่านั้น เพื่อที่คุณจะได้เป็นคนมี ‘ชั่วโมงการบินสูง’ ไงล่ะครับ

 

ประสาทรับกลิ่นและประสาทรับรู้รสชาติ…อ่อนแอลง  

สังเกตไหมครับว่าอาหารที่เสิร์ฟให้เราบนเครื่องบินนั้นไม่ค่อยถูกปากถูกคอเอาเสียเลย เรื่องนี้จะโทษว่าเป็นความผิดของสายการบินอย่างเดียว…ก็ดูจะไม่เป็นธรรมเสียเท่าไหร่ เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความดันอากาศที่เปลี่ยนแปลงขณะเครื่องอยู่บนฟ้านั่นเอง จึงทำให้ต่อมรับรสที่ลิ้นทำงานได้น้อยลง ทำให้รู้สึกว่าอาหารมันช่างจืดชืด ไม่มีรสชาติเอาเสียเลย และไม่ใช่แค่เพียงกับประสาทรับรสเท่านั้น แต่ยังเป็นกับประสาทการรับกลิ่นอีกด้วย

วิงเวียนศีรษะ วิงวอนคลื่นไส้

เมื่อเครื่องบินไต่ขึ้นในระดับความสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ความหนาแน่นของอากาศจะลดลง ทำให้ร่างกายของเราได้รับออกซิเจนลดลง ส่งผลให้ออกซิเจนในเลือดลดลงตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อร่างกายของเราได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เรารู้สึกวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หน้ามืดตาลาย บางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขนาดหมดสติได้เลยทีเดียว นอกจากนี้ความดันอากาศที่ลดลงก็ยังทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

เส้นเลือดบริเวณขาไหลเวียนไม่สะดวก 

สำหรับคนที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานานมากๆ อย่างเช่นการบินข้ามมหาสมุทรนั้น สิ่งที่มักจะพบกันได้บ่อยก็คืออาการขาบวม เท้าบวม ขอบอกเลยว่าอาการนี้ไม่ได้เกิดจากความดันอากาศ แต่เกิดจากการที่เลือดบริเวณขาไหลเวียนได้ไม่สะดวก เนื่องจากเรานั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆโดยไม่ได้ลุกเดินไปไหนมาไหนนั่นเอง ดังนั้นถ้าไม่อยากขาบวม เท้าบวมแล้วล่ะก็…เวลานั่งเครื่องบินนานๆ ก็ลุกขึ้นเดินไปมาบ้างก็จะเป็นการดีครับ

อาการเจ็ทแล็ค (Jet Lag)

เมื่อเราต้องเดินทางข้ามโซนเวลา อาการที่มักจะพบได้บ่อยที่สุดก็คืออาการ ‘เจ็ทแล็ค’ นั่นเอง ซึ่งเป็นอาการแปรปรวนของร่างกายที่เกิดจากการนั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน และมักจะเกิดขึ้นเมื่อต้องนั่งเครื่องบินไปทางทิศตะวันออก โดยจะส่งผลกระทบไปยังทุกส่วนของร่างกาย เช่น ทำให้อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน เกิดความอยากอาหารผิดเวลา หรือแม้แต่หลงๆลืมๆ โดยอาจจะต้องใช้เวลาหลายวันกว่าร่างกายจะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่อาการเหล่านี้จะไม่รุนแรงถ้าหากก่อนการเดินทางมีการพักผ่อนที่เพียงพอ

เปิดทางให้โรคมะเร็ง

มีการศึกษามากมายพบว่า…ผู้ที่ต้องใช้เวลาอยู่บนเครื่องบินนานๆเป็นเวลาบ่อยครั้ง อย่างเช่นผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการบิน ไม่ว่าจะเป็นนักบิน หรือแม้แต่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน มีความเสี่ยงโรคมะเร็งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคนทั่วไป นั่นก็เป็นเพราะว่าในชั้นบรรยากาศนั้นมีรังสีอยู่มากมาย แถมยังไม่มีอะไรที่สามารถปกป้องเราจากรังสีเหล่านั้นได้อีกด้วย แม้แต่หน้าต่างบนเครื่องบินก็ไม่ได้เคลือบสารที่ป้องกันรังสียูวีที่เป็นอันตรายไว้ ทำให้คนที่อยู่บนเครื่องจะได้รับรังสีที่เป็นอันตรายมากกว่าคนที่อยู่บนพื้นดิน อ่านแล้วก็อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะการศึกษายังบอกด้วยว่า ผู้ที่ได้รับรังสีบนชั้นบรรยากาศนั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นมะเร็ง…หากไม่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย

อนึ่ง, ดูแลสุขภาพตัวเองและพักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทางเสมอ และจำไว้ว่า…ไปไหนไม่สำคัญ สำคัญที่ว่า เราเตรียมตัวอย่างไร ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *