9 ข้อน่ารู้เพื่อการนอนอย่างมีคุณภาพในผู้สูงอายุ

0

เมื่อเข้าสู่วัยชราร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิ การรับรสที่เปลี่ยนแปลงไป สายตามัวลง หูได้ยินไม่ชัดเจน ความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวลดลง รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนของร่างกาย ซึ่งพบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้การนอนของผู้สูงอายุไม่มีคุณภาพ

โดยปกติเมื่อเข้าสู่วัยชรา สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมเช่นอวัยวะอื่น โดยลักษณะการนอนของผู้สูงวัย มีดังนี้

1. ระยะเวลาของการนอนตอนกลางคืนจะลดลง

2. ใช้เวลานานขึ้นหลังจากเข้านอนเพื่อที่จะหลับ

3. ช่วงระยะที่หลับแบบตื้น (ตอนที่กำลังเคลิ้มแต่ยังไม่หลับสนิท) จะยาวขึ้น ขณะที่ช่วงระยะที่หลับสนิทจริง ๆ จะลดลง

4. จะมีการตื่นขึ้นบ่อย ๆ กลางดึก

ปัจจัยที่ทำให้การนอนของผู้สูงอายุไม่มีคุณภาพ ได้แก่ การทำงานของร่างกายที่เสื่อมลง ระดับฮอร์โมนที่ลดลง โรคประจำตัวหรือยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการนอนหลับ บรรยากาศในบ้านพัก ความเจ็บปวดทางกาย โรคสมองเสื่อมและภาวะจิตผิดปกติ การขาดกิจกรรมระหว่างวัน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การนอนหลับในผู้สูงอายุมีคุณภาพลดลง

9 ข้อน่ารู้เพื่อการนอนอย่างมีคุณภาพในผู้สูงอายุ

1. ฝึกเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา

2. หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย

3. รับประทานอาหารให้พอดี โดยกำหนดเวลาอาหารมื้อเย็นให้คงที่สม่ำเสมอ

4. ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันในช่วงเช้าและบ่าย

5. งดสูบบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะเวลาเย็น

6. จัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนให้เงียบและมืดพอสมควร ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป

7. งดอ่านหนังสือ งดดูโทรศัพท์มือถือ และงดดูโทรทัศน์ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที

8. ทำจิตใจให้ผ่อนคลายก่อนนอน อาจฟังเพลงในจังหวะเบา ๆ หรือสวดมนต์ รวมถึงการทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อความผ่อนคลายแล้วจึงเข้านอน จะช่วยให้หลับง่ายและสบายขึ้น

9. หากผู้สูงอายุไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เองหรือต้องนอนบนเตียงเป็นส่วนใหญ่ ผู้ดูแลจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ลดการทำกิจกรรมที่ส่งเสียงดังรบกวนการนอน

การรักษาภาวะนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปแพทย์มักจะรักษาโดยไม่ใช้ยา แต่จะใช้วิธีปรับพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยา ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากระบบเผาผลาญและการทำลายยาในผู้สูงอายุจะทำงานลดลงทำให้ฤทธิ์ของยาตกค้างอยู่ในร่างกายนานกว่าปกติ หรือทำให้ร่างกายเกิดความเคยชินต้องใช้ยาที่มีขนาดสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น การรักษาภาวะนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ โดยการใช้ยาจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และผู้ดูแลควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้สูงอายุ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *