หลัก 4 ล. บอกลาบุหรี่ด้วยตนเอง ครอบครัวปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า

0

ในปัจจุบันผู้คนนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดา และเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่มวน ไม่อยากเสี่ยงสุขภาพพังจากบุหรี่ ทุกคนในครอบครัวต้องตระหนักรู้ถึงอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้สำหรับสูบบุหรี่ สร้างความร้อนและไอน้ำด้วยแบตเตอรี่จึงไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้ ในปัจจุบันพบจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงาม บวกกับเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนหรือการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวน มีสารนิโคตินอยู่เหมือนกัน ทำให้เกิดการเสพติดและทำให้เกิดโรคสมองติดยาได้แบบเดียวกับที่เกิดในผู้ที่ใช้เฮโรอีนและยาบ้า นอกจากสารนิโคตินแล้วในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารปรุงแต่งกลิ่นและรส ซึ่งทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดได้เช่นกัน

ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ แต่ผู้สูบจะเปลี่ยนจากการติดบุหรี่มวนมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน และการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ได้อันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลข้างเคียงได้เร็ว รวมถึงส่งผลต่อร่างกายทั้งหลอดเลือดสมอง หัวใจ ระบบการหายใจ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ ซึ่งจากการทดลองในหนู ที่หายใจเอาไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ปอด พบว่า เยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอดเกิดการอักเสบและเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับปอดของหนูที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา

บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดโทษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ได้แก่ หายใจไม่ออก ไอ จาม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ระคายเคืองตาและผิวหนัง ระคายเคืองในช่องปากและคอ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ หากได้รับไปนาน ๆ จนเกิดการสะสมจะทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มฟันอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ต้อกระจก ซีด นอน ไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ชัก วิตกกังวล ซึมเศร้า ปวดบวม จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา

บุหรี่ทุกชนิดเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูบรวมไปถึงคนรอบข้าง เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรังในหลายระบบของร่างกาย การเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิดจึงเป็นวิธีการที่ดีสุดที่จะทำให้ผู้สูบมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น การเลิกสูบบุหรี่มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับการติดนิโคตินและความตั้งใจที่จะเลิก มีทั้งการรักษาด้วยบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ โดยให้คำปรึกษาร่วมกับใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ เช่น หมากฝรั่งนิโคติน แผ่นแปะนิโคติน ยารับประทาน ในส่วนผู้ที่ติดบุหรี่ที่ยังไม่ถึงระดับการติดนิโคติน ก็สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง โดยใช้ หลัก 4 ล คือ

1. เลือกวัน กำหนดวันที่จะเลิกบุหรี่ ยิ่งเร็วยิ่งดี

2. ลั่นวาจา บอกเพื่อนและคนในครอบครัว เพื่อขอกำลังใจ และแรงสนับสนุน

3. ลาอุปกรณ์ กำจัดบุหรี่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการสูบทั้งหมด

4. คิดก่อนลงมือ วางแผนรับมือกับอาการถอนนิโคตินในช่วง 2 – 3 วันแรกหลังหยุดสูบบุหรี่ 

ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาการเลิกสูบบุหรี่ได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือ ศูนย์บริการช่วยเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600  

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *