สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ระลอกใหม่ ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หลายคนยังคงต้องเดินทางไปทำงาน หรือยังออกนอกบ้านไปทำธุระส่วนตัว ซึ่งในหลายสถานที่มีการใช้ หรือสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่ระบาดต่อการติดเชื้อ
เราทราบกันดีว่าการป้องกันตัวเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถทำได้โดยการล้างมือบ่อย ๆ โดยใช้สบู่และน้ำ หรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมหลักเป็นแอลกอฮอล์, รักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากผู้ที่ไอหรือจาม, สวมหน้ากากอนามัย, หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก หรือปาก, ปิดจมูกและปากด้วยข้อพับด้านในข้อศอกหรือกระดาษชำระเมื่อไอหรือจาม
อย่างไรก็ตาม หลังจากเดินทางไปทำงาน หรือยังออกนอกบ้านไปทำธุระส่วนตัว เมื่อกลับมาถึงบ้านหลายคนมักลืมใส่ใจการป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่เชื้อของโรคให้คนในครอบครัวโดยไม่รู้ตัวได้ ในส่วนของวิธีปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่ทำงานนอกบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไปยังบุคคลในครอบครัว มีดังนี้
- ล้างมือทันทีเมื่อกลับถึงบ้านด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที หรือตั้งแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือไว้ที่ประตูหน้าบ้าน
- ถอดรองเท้าและหาที่เก็บรองเท้าไว้นอกบ้าน เพื่อลดโอกาสที่รองเท้าจะไปสัมผัสเชื้อโรค และนำมาแพร่เชื้อต่อ ข้อถัดมา 3. ถอดและทำความสะอาดหน้ากากผ้า โดยใช้สบู่หรือผงซักฟอก จากนั้นตากแดดฆ่าเชื้อให้แห้งสนิทก่อนนำมาใส่ซ้ำอีกครั้ง สำหรับหน้ากากอนามัย เมื่อใช้แล้วขณะถอดให้จับที่สายคล้องหู เพื่อไม่ให้สัมผัสเชื้อโรคแล้วทิ้งในถังขยะมีฝาปิด และควรล้างมือทันที
- เมื่อเข้ามาในตัวบ้านให้อาบน้ำ และสระผมทันที ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่นำไปซัก อย่าเก็บไว้
- ไม่ควรสัมผัสกับบุคคลในบ้าน โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ หากเรามาจากพื้นที่เสี่ยง
- เมื่อกินข้าวร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัวและเน้นกินอาหารปรุงสุกร้อน ในกรณีที่บ้านมีผู้สูงอายุ ควรแยกสำรับต่างหาก และในช่วงสถานการณ์ช่วงนี้ หากสามารถทำอาหารกินเองได้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด เพราะนอกจากปลอดภัยจากการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสแล้วยังปลอดภัยจากการแพร่ระบาดไวรัส และยังเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไปในพื้นที่แออัดซึ่งอาจเป็นพื้นที่เสี่ยงได้
นอกจากการปฏิบัติหลังกลับเข้ามาในบ้านแล้ว การจัดสภาพแวดล้อม เช่น เน้นระบายอากาศให้โล่ง โปร่ง ก็เป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 ได้ โดยเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศตามธรรมชาติหรือเพิ่มการแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างภายในและภายนอกอาคารให้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณสถานที่อับอากาศ และไม่ควรให้อากาศเดิมหมุนเวียนกลับมาใหม่ กรณีใช้เครื่องปรับอากาศ ควรมีการปิดพักใช้เครื่องปรับอากาศและเปิดหน้าต่างช่วยระบายอากาศ แต่หากใช้ พัดลม ให้หมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ
ที่สำคัญอย่าลืมหมั่นสังเกตและประเมินอาการตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีประวัติการเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา หรือมีอาการน่าสงสัยควรรีบไปพบแพทย์ทันที