เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างสุดเหวี่ยงกันไปแล้ว ถึงเวลาที่ต้องกลับมาโฟกัสกับการทำงานเพื่ออนาคตอีกครั้ง โดยช่วงปีใหม่ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่เราจะได้เริ่มต้นการดูแลและเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อสุขภาพที่ดี ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต และนี่คือ 8 วิธีการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี
การส่งเสริมสุขภาพจิต หมายถึง การบำรุงรักษาสภาพจิตใจของตนเองให้เข้มแข็งสมบูรณ์อยู่เสมอ การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของมนุษย์จะต้องประสบทั้งความทุกข์และความสุขปะปนกันไป ดังนั้น การมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็งย่อมจะสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้ดียิ่งขึ้น เราจึงควรมีวิธีการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี ดังนี้
1. รู้จักและทำความเข้าใจตัวเองให้ดีที่สุด ศึกษาจุดเด่น ความสามารถพิเศษในตัวเองเพื่อให้สามารถนามาใช้ได้อย่างเหมาะสมที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องทางกฎหมายและศีลธรรม ยอมรับจุดด้อยของตนเอง ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ใช้ความสามารถของตัวเองให้เกิดประโยชน์แก่สังคม กล้าเผชิญปัญหาด้วยความสุขุม
2. ฝึกทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส มองโลกในแง่ดี ฝึกเป็นคนสุขุมรอบคอบ ไม่ใจร้อน โกรธง่าย มีอารมณ์ขันไม่เอาจริงเอาจังกับทุกอย่างจนเกินไป แต่ไม่ควรหมกมุ่นกับเรื่องไร้สาระ พยายามฝึกทำอารมณ์ให้สงบ ไม่หวั่นไหวง่าย
3. ฝึกรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยใจกว้าง รับฟังเหตุผลมากกว่าอารมณ์ พิจารณาถึงปัญหาต่างๆ ด้วยเหตุผล และข้อมูลหลายๆ ด้าน ไม่ควรโทษตัวเองหรือผู้อื่นด้วยอารมณ์
4. ปรับปรุงตนเองให้เข้ากับคนอื่นได้ ทำตนให้เป็นที่รักของคนทั่วไป โอบอ้อมอารี จริงใจต่อผู้อื่นยินดีช่วยเหลือ มีน้ำใจต่อผู้อื่น ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ผู้อื่น และสังคม ลดความเห็นแก่ตัว
5. บำรุงรักษาสุขภาพทั้งกายและจิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำงานพอเหมาะ พักผ่อนให้เพียงพอ
6. หาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดถือคำสอนในศาสนาที่ตนนับถือ เพราะคำสอนในศาสนาจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจให้สงบ เยือกเย็น มีสติปัญญา ไม่หลง โกรธ มัวเมาในสิ่งไม่เป็นประโยชน์ สุขภาพจิตก็จะดีอยู่เสมอ
7. เมื่อมีปัญหาหรือมีความเครียดทางจิตใจ ควรหาโอกาสผ่อนคลาย ด้วยการทำงานอดิเรก ออกกำลังกายจะทำให้มีจิตใจที่สบายขึ้น
8. ฝึกบริหารจิตใจ ฝึกทำสมาธิ ทำจิตใจให้ว่าง เป็นการทำให้จิตใจเข้มแข็ง สามารถเข้าใจตนเองและปรับปรุงตนเองได้เสมอ เมื่อมีปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ จะสามารถพิจารณาได้อย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง
ทั้งนี้ หากบุคคลมีพื้นฐานด้านสุขภาพจิตที่ดี มั่นคง มีความเจริญ เติบโตด้านสุขภาพจิตเต็มที่ ก็จะมีความสามารถในการปรับภาวะสมดุลทางจิตให้สามารถอยู่กับตัวเองได้