11 เทคนิคเสริมพลังสุขภาพจิตสำหรับวัยผู้ใหญ่

0

ในแต่ละสถานการณ์ที่ต้องเผชิญตลอดช่วงชีวิตของเรา เราจำเป็นต้องมีและใช้พลังสุขภาพจิตอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ พลังสุขภาพจิตเป็นคุณสมบัติที่เราส่งเสริมและพัฒนาได้โดยวิธีการที่หลากหลาย นอกจากปลูกฝังตั้งแต่เด็กแล้ว ผู้ใหญ่แล้วก็สามารถเรียนรู้ และฝึกฝนตนเองได้เช่นกัน

พลังสุขภาพจิต หรือ อาร์คิว (RQ: Resilience Quotient) คือ ความสามารถทางอารมณ์และจิตใจในการปรับตัวและฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติภายหลังที่พบกับเหตุการณ์วิกฤตหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบากในชีวิตอันเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ผู้ที่มีพลังสุขภาพจิตสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส สามารถยกระดับความคิด จิตใจ และการดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากเหตุการณ์วิกฤตนั้นผ่านพ้นไป

สำหรับผู้ใหญ่การสร้างพลังสุขภาพจิต RQ เป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนตนเองได้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการที่จะพัฒนาตนเองในทางสุขภาพจิต ทั้งในด้านการสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ การเสริมสร้างกำลังใจและการฝึกทักษะการแก้ไขปัญหาทั้งที่เป็นปัญหาในเชิงความคิดและการลงมือปฏิบัติ ซึ่งมีเทคนิคดังนี้

1. สร้างความผูกพันและสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ครอบครัว ญาติพี่น้อง คนที่สามารถรับฟังปัญหา ความคับข้องใจและให้ความช่วยเหลือคุณได้ โดยความรู้สึกเชื่อมโยง มีสายใยผูกพันกับใครหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้ เมื่อเราเจอปัญหาสำคัญในชีวิต

2. ใช้อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะ คิดว่าในวิกฤตนี้มีอะไรที่น่าขำอยู่บ้างแต่ถ้าไม่มีเลย ลองหันไปดูหนังหรืออ่านหนังสือการ์ตูนตลกๆ ที่ทำให้คุณหัวเราะได้

3. เรียนรู้จากประสบการณ์ทบทวนว่าคุณเคยเจอปัญหานี้มาก่อนหรือไม่และคุณเคยจัดการอย่างไร และอย่าทำซ้ำในสิ่งที่ไม่ได้ผลในครั้งก่อน

4. มีความหวังและมองโลกในแง่ดี เมื่อคุณกอบกู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ ให้มองไปข้างหน้า และในแต่ละวันให้คิดว่าวันนี้มีอะไรดีขึ้นบ้าง แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม

5. ดูแลตัวเองทั้งด้านสุขภาพ ร่างกาย และอารมณ์ ทำงานอดิเรกที่ชอบ ออกกำลังกาย และนอนพักผ่อนให้มากๆ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

6. ยอมรับการเปลี่ยนแปลง พยายามยืดหยุ่นเข้าไปไว้ อย่ายึดมั่นกับเรื่องจุกจิกเล็กน้อยที่จะกวนใจ เช่น หากมีคนมาช้าในการนัดหมายที่ไม่สำคัญมากก็ไม่ควรจริงจังถึงขั้นจะคลาดเวลาเลยไม่ได้ การเป็นคนตรงจนเกินไปจะเพิ่มความเครียด ความกังวล และปรับตัวยากเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ค่อยแน่นอน

7. กำหนดเป้าหมายรายวันและทำ เพื่อเป้าหมายนั้นแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย การกำหนดสิ่งที่ตั้งใจจะทำ ให้สำเร็จในวันหนึ่งๆ และทำให้ได้จะทำให้รู้สึกว่าประสบความสำเร็จและรู้สึกดีกับตัวเองทุกวัน

8. ลงมือทำ เมื่อมีปัญหาให้คิดและวางแผนว่าจะทำ อะไรถึงจะแก้ไขได้และลงมือทำ

9. เรียนรู้สิ่งใหม่เกี่ยวกับตัวเองย้อนมองตัวเองในอดีตและคิดว่าเดี๋ยวนี้คุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คุณอาจจะรู้สึกชื่นชอบตัวเองในมุมใหม่ๆ เช่น หลังจากตกงานกลายเป็นคนที่ทำกับข้าวเก่งขึ้น เป็นต้น

10. คิดถึงตัวเองในแง่ที่ดีขึ้น ภูมิใจในตัวเองว่าสามารถทำสิ่งต่างๆ มากมาย และมีคุณสมบัติหลายอย่างที่น่าชื่นชม

11. มองโลกให้กว้างไกล คิดถึงเรื่องของตัวเองเทียบกับสถานการณ์ในสังคมและของโลก
พลังสุขภาพจิตสำคัญสำหรับทุกคน เพราะไม่มีใครสามารถจะล่วงรู้ได้ว่าเราจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤตในชีวิตเมื่อใดและจะหนักหนาเพียงใด ดังนั้น จึงควรตระเตรียมต้นทุนทางใจไว้ให้เพียงพอกับการรับมือกับเหตุการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *