โรคมะเร็งจึงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก นอกจากการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงโรคมะเร็งแล้ว การรักษาโรคก็สำคัญไม่แพ้กัน ล่าสุดโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษาโรคมะเร็ง คือ เครื่องโทโมเทอราปี
โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง รับผิดชอบการให้บริการในเขตภาคตะวันออกเฉียง เหนือตอนบน ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ประเด็นมะเร็งครบวงจร โดยมีเทคโนโลยี เครื่องฉายแสง โทโมเทอราปี (Tomotherapy) ที่ทันสมัย ซึ่งรุ่นนี้เป็นเครื่องแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษามะเร็งก้อน เพื่อหวังผลหายขาด ทดแทนการผ่าตัด ในกรณีที่ขาดแคลนศัลยแพทย์เฉพาะทาง หรือสภาพผู้ป่วยไม่พร้อมจะผ่าตัด ตลอดจนรองรับการให้บริการด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในภูมิภาคอินโดจีน และการพัฒนา Medical Hub ในอนาคต
เครื่องโทโมเทอราปี เป็นเครื่องฉายรังสีที่พัฒนามาจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้น (Linear accelerator : LINAC) ที่มีลักษณะการทำงานของแกนทรีหรือตำแหน่งปล่อยลำรังสีรักษาจะสามารถหมุนรอบตัวผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง 360 องศา ทำให้เกิดข้อดีคือสามารถปล่อยลำรังสีได้อย่างต่อเนื่องได้ระยะการฉายที่ยาวมากขึ้น และช่วยลดระยะเวลาในการฉายรังสีต่อวัน และสามารถใช้หลักการวินิจฉัยด้วยภาพรังสีคล้ายเครื่อง CT scan เพื่อตรวจสอบตำแหน่งการฉายรังสีที่จะทำการรักษาให้มีความแม่นยำ ตรงกับการวางแผนรังสีรักษา และปรับตำแหน่งผู้ป่วยหรือเตียงฉายให้มีความแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย ในยุคแรกแหล่งกำเนิดรังสีของเครื่องโทโมเทอราปีนั้น ประกอบด้วย 2 แหล่งกำเนิด คือ
1. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีกำลังสูงสุด 140 กิโลโวลต์ ใช้ในการสร้างภาพแบบ 3 มิติเพื่อกำหนดและตรวจสอบตำแหน่ง รวมทั้งดูกายวิภาคของรอยโรคในผู้ป่วย เช่น ระบุขนาดและรูปร่างก้อนมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความแม่นยำในการรักษามากยิ่งขึ้น โดยหลักการทำงานคล้ายกับเครื่องตรวจวินิจฉัยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan ที่ใช้อย่างแพร่หลาย
2. เครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้น ที่มีกำลังสูงสุด 6 เมกะโวลต์ การฉายรังสีเอกซ์พลังงานสูงไปยังรอยโรค โดยลำรังสีออกจากเครื่องฉายจะมีรูปร่างสอดคล้องกับรูปร่างของก้อนมะเร็ง และรังสีสามารถส่งไปยังเนื้องอกได้จากทุกมุมโดยการหมุนแกนทรี (Gantry) ได้ถึง 360 องศา ปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีแหล่งกำเนิดรังสีเพียง 1 แหล่งกำเนิด ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการกำหนดตำแหน่งตรวจสอบตำแหน่งดูกายวิภาคของรอยโรคในผู้ป่วยและฉายรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งได้
การฉายรังสีด้วยเครื่องโทโมเทอราปี เป็นการฉายรังสีด้วยเทคนิค intensity modulated radiotherapy (IMRT) ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถปรับลำรังสีให้มีขนาดเข้มของรังสีตามรูปร่างลักษณะของก้อนมะเร็งได้ ถือเป็นเทคนิคการฉายรังสีที่มีความซับซ้อนและละเอียดสูงสุดในปัจจุบัน เนื่องจากการวางแผนการรักษาจะสามารถปรับปริมาณความเข้มของลำรังสีได้ในหลาย ๆ ทิศทางของแต่ละลำรังสีด้วยการแบ่งเป็น subfields จึงช่วยเพิ่มความแม่นยำของการฉายรังสีโดยการปรับความเข้มให้ครอบคลุมบริเวณก้อนมะเร็ง ขณะเดียวกันยังช่วยลดปริมาณรังสีที่จะฉายไปยังตำแหน่งอวัยวะปกติใกล้เคียง
โดยปกติการฉาย IMRT ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 25-30 นาที แต่เครื่องโทโมเทอราปี สามารถลดระยะเวลาการฉายลง เหลือเพียง 10-15 นาทีต่อการฉายรังสีรักษา 1 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาในการรักษาต่อวันลดลง พร้อมระบบภาพนำวิถี (Image–guided Radiotherapy, IGRT) โดยเพิ่มระบบรับภาพแบบดิจิตอลมากับเครื่องมือการฉายรังสีเพื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ดูตำแหน่งและขอบเขตของการฉายรังสี เพิ่มความแม่นยำ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วยรังสีรักษาให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปริมาตรการฉายรังสี (treatment volume) ค่อนข้างยาว เช่น การฉายรังสีรักษามะเร็งศีรษะลำคอ การฉายรังสีรักษาในเด็กที่ต้องได้รับรังสีครอบคลุมบริเวณเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง (craniospinal irradiation ; CSI) ซึ่งปกติต้องได้รับการเชื่อมต่อฟิลด์การฉายรังสีเนื่องจากปริมาตรรังสีรักษามีความยาวเกินกว่าที่จะสามารถทำได้ครอบคลุมภายใน 1 ฟิลด์ฉาย แต่การรักษาด้วยโทโมเทอราปีมีหลักการทำงานคือการฉายรังสีออกจาก gantry ที่มีการหมุนรอบทิศทางและมีความต่อเนื่อง สามารถฉายรังสีในปริมาตรรังสีรักษาที่มีความ ยาวสูงสุด 135 เซนติเมตรโดยไม่ต้องต่อฟิลด์ฉาย ช่วยลดปริมาณรังสีซ้อนทับบริเวณที่มีการต่อฟิลด์ และใช้เวลาในการฉายรังสีลดลงมาก
สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy : IMRT) สามารถเข้ารับบริการด้วยเครื่องโทโมเทอราปี ได้ตามสิทธิการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม