เพราะสถานการณ์โควิด ณ ปัจจุบัน จะดูไม่ได้น่ากลัวเหมือนช่วงปี 2563-2564 ทำให้หลายคนการ์ดตก เพราะคิดว่าติดก็ไม่เป็นไร หายได้ โดยลืมนึกถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากภาวะลองโควิด อีกทั้งโควิดยังสามารถกลายพันธุ์ได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ โดยวัคซีนโควิดตัวล่าสุด คือ Bivalent
วัคซีนไบวาเลนท์ (Bivalent vaccine) เป็นวัคซีนที่มีการพัฒนาขึ้น และมีความครอบคลุมทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งเกิดจากการพัฒนาวัคซีนโดยใช้สารพันธุกรรม mRNA ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม (Wuhan-Hu-1) และ mRNA ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอย่างละครึ่ง ซึ่งในส่วน mRNA ของสายพันธุ์โอมิครอน ปัจจุบันผู้ผลิตวัคซีนใช้สารพันธุกรรมจากสารพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกันอย่างอาจจะเป็น BA.1 หรือ BA.4, BA.5 ขึ้นอยู่กับแผนการของบริษัทและสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดในประเทศที่รับวัคซีน
วัคซีนรุ่นที่ 2 อย่างวัคซีน bivalent นี้จะสามารถป้องกันโควิดทุกสายพันธุ์ได้ดีขึ้น ต่างจากวัคซีน mRNA แบบเดิมจะมีเพียงส่วนประกอบจากโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม วัคซีน mRNA แบบเดิมที่ผ่านการรับรองจาก WHO นั้น ยังคงมีประสิทธิผล ที่ช่วยในการลดอัตราการป่วยที่รุนแรง อัตราการเสียชีวิต ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อที่กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้จำเป็นต้องมีการพัฒนาวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และลดจำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิตลงอีก
ปัจจุบันมีวัคซีน Bivalent นี้ได้ผ่านการรับรองจาก US FDA แล้ว โดยในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2022 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ประกาศอนุมัติใช้วัคซีน Bivalent ทั้งจาก Moderna และ Pfizer โดยสามารถฉีดได้ทั้งเป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 2 หลังจากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มแรกอย่างน้อย 2 เดือน หรือจะฉีดเป็นเข็มกระตุ้นหลังจากได้รับวัคซีนครบก็ได้ โดยจะใช้ Moderna กับบุคคลที่มีอายุครบ 18 ปีขึ้นไป ขณะที่ Pfizer สามารถใช้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ใหญ่ (ภายหลังประกาศให้เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปสามารถรับวัคซีนได้เช่นกัน)
จากผลการศึกษาในช่วงปลายปี 2565 ในประเทศสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลก มีข้อแนะนำให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ bivalent เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มขึ้นไป ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ประมาณ 28-56% ความปลอดภัยไม่ต่างกับวัคซีนรุ่นแรกชนิด monovalent สามารถใช้ทั้งชนิด monovalent และ bivalent มาเป็นเข็มกระตุ้นได้ เนื่องจากผลในการป้องกันโรคไม่แตกต่างกัน
สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีน bivalent เข็มกระตุ้นในประเทศไทย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย อาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยงเกิดอาการป่วยรุนแรง (กลุ่ม 608) รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีความเสี่ยง โดยต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 มาแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม จะฉีดเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 3 เดือน และเข็มที่ 4 ห่างจากเข็มที่ 3 อย่างน้อย 4 เดือน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 มาแล้วและเคยติดเชื้อ จะฉีดหลังติดเชื้ออย่างน้อย 6 เดือน
นอกจากอัพเดทข่าวสารเรื่องวัคซีนโควิดแล้ว อย่าลืมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เลี่ยงที่แออัด หากสงสัยว่าติดเชื้อให้ตรวจ ATK ทันที เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด 19